กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--อพท.
เมื่อวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยงานท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน (สทช.) อพท.ส่วนกลาง กทม. ได้ดำเนินการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ รุ่นที่ 3 โดยประสานให้ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) ร่วมเชิญหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทองเข้าร่วมการอบรมดังกล่าว เวลา 9.30-15.30 น. ณ โรงแรมศรีอู่ทอง แกรนด์ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี นายสุเทพ เกื้อสังข์ รองผู้อำนวยการ อพท. (2) เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม
นายสุเทพ เกื้อสังข์ รอง ผอ.อพท.(2) กล่าวว่า อพท.ได้สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มากว่า 4-5 ปีมาแล้ว การสืบค้นเรื่องราวของผู้คนในชุมชนเพื่อนำมาสร้างเรื่องราว ให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีประสบการณ์ตรงในการลงมือทำ สร้างความภูมิใจในการมีประสบการณ์นั้นๆ สามารถนำไปบอกต่อ ถ่ายทอดเรื่องราวที่ไปเที่ยวกับคนอื่นๆได้เพราะเกิดการประทับใจ สิ่งนี้ก็คือ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ในอดีตการท่องเที่ยวถูกใช้เป็นเครื่องมือในเชิงเศรษฐกิจที่จะนำพานักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ประเทศ แต่ปัจจุบัน "การท่องเที่ยว กลายเป็นเครื่องมือในการพัฒนาไปสู่การพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน มีความเป็นมากกว่าการพักผ่อน เป็นการนำพาให้ผู้คนเข้าไปสัมผัส เรียนรู้ในแหล่งท่องเที่ยวที่ตรงกับจริตของนักท่องเที่ยว เช่น หากพูดถึงจังหวัดสุโขทัย ก็จะนึกถึงถ้วยชามสังคโลก มีรูปปลาตะเพียนในน้ำ แสดงถึงในน้ำมีปลาในนามีข้าว ก็สามารถดึงนักท่องเที่ยวให้มาปั้นสังคโลกและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวให้ใช้เวลาอยู่ในสุโขทัยให้ได้นานขึ้นอีก สำหรับเมืองโบราณอู่ทองตามแผนแม่บทฯคือเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิม
บรรยากาศภายในงาน มีการบรรยายในหัวข้อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มิติใหม่ของการท่องเที่ยวไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ หัวหน้าโครงการอบรมความรู้ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์รุ่นที่ 3 และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ ผู้จัดการโครงการ สรุปใจความสำคัญได้ว่า การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ Creative Tourism การท่องเที่ยวซึ่งมอบโอกาสให้กับผู้เดินทางในการพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์ของตน ผ่านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริงที่เป็นไปตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่เป้าหมายที่ได้ท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ประกอบไปด้วย การท่องเที่ยวเชิงศิลปะ การท่องเทียวเชิงวัฒนธรรม การท่องเทียวมรดกวัฒนธรรม การท่องเที่ยวหัตถกรรม โดยมีรูปแบบการนำเสนอที่เกียวข้องกับวิถีชีวิตประจำวัน เป็นวัฒนธรรมมวลชนคือคนหมู่มากให้การยอมรับในพื้นที่ เป็นวัฒนธรรมที่ล้ำค่า โดยมีคุณสมบัติในเชิงพื้นที่ที่มีความหลากหลายและโดดเด่น ชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมมีความตระหนักรู้ในคุณค่า มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม มีประสบการณ์ตรงร่วมกับเจ้าของวัฒนธรรม มีความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
นายธนกฤต ภัทร์ธราธร หัวหน้างานท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ อพท.นำเสนอข้อมูลการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์กับยุทธศาสตร์การท่องเทียวอย่างยั่งยืน โดยกล่าวว่า การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน คือ การท่องเที่ยวที่ทำให้ชุมชนมั่นคงอยู่ได้และมีนักท่องเที่ยวสนใจเดินทางมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปีในปริมาณที่ชุมชนนั้นๆ สามารถรองรับไหว ไม่ใช่มาท่องเที่ยวในปริมาณมากแล้วก่อให้เกิดปัญหามลภาวะเป็นพิษ นักท่องเทียวที่มาเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นตัวตนที่แท้จริงของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตหรือชีวิตประจำวัน เช่น การทอผ้าสำหรับใช้เองในชุมชน การทำอาหาร การปลูกข้าว การพยายามสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวแบบเฉพาะกาลหรือตามประเพณี ไม่ถือเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นการสร้างขึ้นหรือยึดตามช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในการจัดงานท่องเที่ยว หากการท่องเที่ยวนั้นเป็นการท่องเที่ยวโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวัน จะทำให้ชุมชนไม่มีภาระและยังรักษาความเป็นตัวตนที่แท้จริงเป็นแม่เหล็กชุมชนที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีนายปชาธิมณ กลิ่นจันทร์ ซึ่งเป็นชาวอู่ทอง สุพรรณบุรีโดยตรง ได้มาถ่ายทอดกิจกรรมเรียนรู้การหล่อเหรียญทวารวดีเมืองอู่ทองในโรงหล่อวิเชียร โดยคุณสมศักดิ์ได้เข้าร่วมอบรมและเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในรุ่นที่ 2 ไปแล้ว จึงถือเป็นรุ่นพี่ที่สามารถถ่ายทอดแชร์เรื่องราวกับผู้เข้าอบรมในรอบนี้
ในช่วงท้ายของการอบรมได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ด้วยการบอกเล่าประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 เพื่อตอบคำถามแก่รุ่นที่ 3 นี้ มีการ workshop สำรวจรูปแบบความต้องการของชุมชนต่อการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มีการนำเสนอและบอกเล่ากิจกรรมโดยผู้อบรม และได้จัดให้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมภายในงานด้วย ทั้งนี้ อพท.7 ยังได้เชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมทำข่าวในงานนี้ด้วย