กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--สจร.
สจร. หวังลดปัญหาการจราจรจากปริมาณรถบรรทุกที่เข้ามารับน้ำมันที่คลังน้ำมันช่องนนทรี โดยมีแนวทางลดบทบาทเป็นคลังน้ำมันสำรองเฉพาะเขตกทม. ชั้นในเท่านั้น หวังให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันจัดส่งน้ำมันผ่านระบบท่อแทนการใช้รถบรรทุกน้ำมัน เพื่อป้องกันปัญหาจราจรและอุบัติเหตุ
นายระพินทร์ จารุดุล ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) กล่าวว่าในการประชุมเพื่อหาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการขนส่งน้ำมันทางท่อ ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมโยธาธิการ กรมทะเบียนการค้า กรมการขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย และตัวแทนของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (THAPP LINE) บริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) เห็นร่วมกันว่า ควรจะต้องลดบทบาทของคลังน้ำมันที่ช่องนนทรีลงให้เป็นเพียงคลังน้ำมันสำรองเพื่อจ่ายให้กับผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในเท่านั้นจากที่เป็นคลังเก็บน้ำมันสำรองและศูนย์การจ่ายน้ำมันในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล
ทั้งนี้หากมีการกำหนดบทบาทให้คลังน้ำมันที่ช่องนนทรีให้เป็นเพียงคลังน้ำมันสำรองสำหรับเขตกรุงเทพฯ ชั้นในเท่านั้น จะสามารถลดปริมาณรถบรรทุกน้ำมันที่ต้องวิ่งเข้ามารับน้ำมันที่คลังช่องนนทรี เพื่อไปส่งตามสถานีบริการน้ำมันในจังหวัดข้างเคียงได้ประมาณ 330 เที่ยวต่อวัน
อย่างไรก็ตาม สจร. จะประสานกับกรมทะเบียนการค้า กรมโยธาธิการเพื่อศึกษาในเรื่อง ปริมาณคลังน้ำมันภายนอกกรุงเทพฯ เช่น คลังน้ำมันบางปะอิน คลังน้ำมันลำลูกกา ว่าจะสามารถรองรับพื้นที่ภายนอกได้หรือไม่ โดยแสดงให้เห็นถึงปริมาณที่มีเพียงพอ เพื่อที่บริษัทผู้ค้าน้ำมันไม่ต้องเข้ามาใช้คลังน้ำมันที่ช่องนนทรี
"การที่จะลดบทบาทของคลังน้ำมันช่องนนทรีลงนั้นจะเป็นก้าวแรกสำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ โดยรอบวงแหวนอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นศูนย์อุตสาหกรรมที่ทันสมัยต่อไป และเมื่อคลังน้ำมันที่ช่องนนทรีลดบทบาทลงแล้วความเป็นไปได้ในการย้ายคลังน้ำมันออกนอกเมืองเมื่อรัฐกำหนดมาตรการและระยะเวลาที่ชัดเจนออกมาแล้วก็เป็นไปได้มากขึ้น" นายระพินทร์ กล่าว
ที่ผ่านมา ได้มีการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันทางท่อไปบ้างแล้ว คือ การห้ามรถบรรทุน้ำมันพ่วง 2 ตอน เดินรถในเขตกทม.ตลอด 24 ชั่วโมง ยกเว้นถนนบางสายที่ต้องวิ่งผ่านออกนอกเขต ซึ่งได้รับการผ่อนผันให้วิ่งได้เฉพาะในเวลา 22.00-05.00 น. เพื่อป้องกันปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ ในการประชุมยังมอบหมายให้บริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อทั้ง 2 บริษัท ไปพิจารณาสร้างแรงจูงใจในเรื่องของอันตราค่าบริการด้วย เพราะในอนาคตการขนส่งน้ำมันโดยใช้รถบรรทุกอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากมาตราการที่บังคับให้รถบรรทุกจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ตรวจไอระเหยน้ำมัน ที่คาดว่าจะประกาศใช้มาตรการดังกล่าวได้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2544 ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งน้ำมันของรถบรรทุกสูงขึ้น
การขนส่งน้ำมันผ่านทางท่อถือเป็นรูปแบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เพราะจะเป็นผลดีในการช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดเนื่องจากรถบรรทุกน้ำมัน อีกทั้งยังสามารถบรรเทาปัญหาอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยผู้เกี่ยวข้องทั้งในท้องถนน และชุมชนที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการเกิดอุบัติเหตุของรถบรรทุกน้ำมันและเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมกรณีมีไอระเหยจากการขนถ่ายน้ำมัน รวมทั้งกรณีเกิดการรั่วไหลด้วย และสามารถขนส่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่การขนส่งน้ำมันทางรถบรรทุกมีข้อจำกัดในเรื่องขอเวลาที่สามารถขนส่งได้เป็นบางช่วงเวลาเท่านั้น--จบ--
-อน-