ปตท. เผยใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าแทนน้ำมัน ต้นทุนต่ำกว่า

ข่าวทั่วไป Monday March 19, 2001 11:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--ปตท.
นายวิเศษ จูภิบาล ผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นมาของค่า Ft ในการคิดราคาค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้นว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะราคาพลังงานในตลาดทุกชนิดที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เช่น น้ำมันเตา ดีเซล และ ก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเชื้อเพลิงด้วย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เป็นต้น ซึ่งเป็นเจตนารมย์ของนโยบายรัฐที่ต้องการให้ค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนตลาดพลังงานที่แท้จริง ดังนั้น โครงสร้างค่า Ft จึงไม่ได้มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาก๊าซ ฯ เพียงอย่างเดียว ส่วนสาเหตุที่ราคาก๊าซฯ มีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ เป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง และ วิกฤตราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา เนื่องจากการคำนวณราคาก๊าซ ฯ จะอิงกับราคาน้ำมันเตาย้อนหลังประมาณ 6 — 12 เดือน อย่างไรก็ดี ราคาก๊าซ ฯ จากทุกแหล่งในช่วงนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 20% ในขณะที่ราคาน้ำมันเตาปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ดังนั้นหากไม่ได้ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ค่า Ft จะปรับตัวสูงขึ้นมากกว่านี้ ผู้ว่าการ ปตท. ชี้แจงในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สำหรับก๊าซ ฯ พม่านั้น ถ้าคำนวณที่ราคาปากหลุมจะใกล้เคียงกับราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทย แต่เนื่องจากเป็นแหล่งที่อยู่ในต่างประเทศและมีระยะทางไกลกว่าอ่าวไทย ดังนั้น ปตท. จึงรับซื้อที่ ชายแดนไทย-พม่า โดยผู้ขายเป็นผู้ลงทุนวางท่อก๊าซฯในทะเลและบนบกมาถึงชายแดนไทย ราคาก๊าซฯ จึงแพงกว่า ส่วนในอ่าวไทยนั้น ปตท. รับซื้อ ณ ปากหลุมผลิตที่อยู่กลางอ่าวไทย นอกจากนี้ถ้าเทียบกับการใช้น้ำมันเตาแล้ว กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากการใช้ก๊าซฯ พม่าที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ก็ยังมีราคาที่ถูกกว่าอย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ก๊าซฯ ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังมาจากในประเทศ คือ แหล่งบนบกและแหล่งในอ่าวไทยประมาณ 1,650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนก๊าซฯ พม่าใช้ประมาณ 620 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับ ภาระ Take-or-Pay ซึ่งหลายฝ่ายยังเข้าใจผิดว่าเป็นค่าปรับนั้น ผู้ว่าการ ปตท. ชี้แจงว่า Take-or-Pay เป็นการจ่ายเงินไปล่วงหน้า โดยยังไม่ได้นำก๊าซฯ มาใช้ ซึ่งมีสาเหตุจากหลายประการ ดังนี้
ประการแรก ปตท. และ กฟผ. ต่างดำเนินนโยบายจัดเตรียมพลังงานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ไว้ในอดีต แต่ด้วยภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในกลางปี 2540 ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซฯลดต่ำลงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้อย่างมาก ประกอบกับการที่ กฟผ. ประสบปัญหาทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีเสร็จไม่ทันกำหนด จึงทำให้ ปตท. ไม่สามารถรับก๊าซฯ พม่าได้ตามสัญญาฯ แม้ว่า ปตท. จะสามารถทำความเข้าใจกับกลุ่ม NGOs และก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ ได้แล้วเสร็จตามสัญญาฯประการต่อมา คือ การทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯตามมาตรฐานสากลทั่วไป (International Standard) จะเป็นลักษณะ Take-or-Pay เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ผู้ซื้อต้องการความมั่นใจในปริมาณก๊าซฯ ที่จะจัดส่งให้ลูกค้าตลอดอายุสัญญาฯ ในขณะเดียวกัน ผู้ขายก็ต้องการความมั่นใจที่จะได้รับผลตอบแทนการลงทุนอย่างคุ้มค่า และมีเงินไปชำระเจ้าหนี้เงินกู้โครงการได้ตามกำหนด ดังนั้น การที่ ปตท. ไม่สามารถรับก๊าซฯได้ตามสัญญาฯ ปตท. จึงมีภาระผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินค่าก๊าซฯ ที่ไม่ได้รับให้ผู้ขายไปก่อน (Take-or-Pay) ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามมาตรฐานสากลทั่วไป อย่างไรก็ตาม ปตท. สามารถรับก๊าซฯส่วนนี้คืนได้จนครบจำนวนโดยไม่ต้องจ่ายเงินอีก เมื่อเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวและประเทศมีความต้องการใช้ก๊าซฯ เพียงพอ ดังนั้น สิ่งที่เป็นภาระจริงๆ คือ ค่าดอกเบี้ย ซึ่งหากสามารถนำก๊าซฯ มาใช้ได้เร็วขึ้นภาระดอกเบี้ยก็จะน้อยลง--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ