กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--คอร์แอนด์ พีค
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยห่วงสุขภาพผู้ที่นิยมการเพนต์เฮนน่าจากสารเคมี เผยหากเป็นสีที่ผสมน้ำยาย้อมผม เมื่อผู้เพนต์มีอาการแพ้ จะมีผื่นคันหรือตุ่มน้ำใส หรือเป็นรอยดำที่ผิวให้สังเกตสีที่ใช้มาทำเฮนน่านั้น หากมีสีเข้มหรือทำให้เกิดสีที่ออกดำชัดเจนมาก อาจจะมีการผสมของส่วนประกอบของพีพีดีอะลาเฟลานีนไดเอมีน จึงทำให้เกิดการแพ้ค่อนข้างง่ายกว่าการใช้สีเฮนนาธรรมชาติทั่วไป
รศ.นพ.นภดล นพคุณ นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากกรณีกระแสโซเชียลมีเดียได้โพสต์เผยแพร่กรณีหญิงสาวชาวต่างชาติเพนต์สีเฮนน่าตามร่างกายแล้วเกิดอาการแพ้ ส่งผลให้มือของหญิงสาวคนดังกล่าวเป็นแผลพุพองตามข้อความที่เพนต์ นั้น สีเฮนน่าตามปกติจะทำมาจากสมุนไพรที่ได้จากธรรมชาติล้วน ๆ โดยที่ผ่านมาไม่ค่อยพบว่ามีผู้แพ้ แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าเพื่อให้เกิดความคมชัด และมีสีเข้มมากกว่าสีที่มาจากธรรมชาติ ทำให้ตามท้องตลาดของประเทศไทยมักพบสีเพนต์เฮนน่า ที่มีการผสมสารย้อมผม ดังนั้นก่อนตัดสินใจจะเพนต์ต้องลองสังเกตลักษณะสีที่ใช้เพนต์ว่าเป็นอย่างไร ถ้ามีลักษณะคมชัด สีเข้มสวยงาม จะผสมสารย้อมผม ถ้าเป็นเฮนน่าธรรมชาติ สีจะออกน้ำตาลแดง สีไม่คมชัด ใช้สีเฮนน่าธรรมชาติจะมีโอกาสแพ้น้อยกว่ามาก
นพ.นภดลกล่าวว่า ผู้ที่เกิดอาการแพ้มากนั้น อาการจะออกมาอย่างรวดเร็ว หลังจากเพนต์สีเฮนน่าไม่นาน โดยจะมีอาการผื่นขึ้น มีตุ่มน้ำใสขึ้น คัน บริเวณที่เพนต์ แต่บางคนที่แพ้ไม่มาก อาการอาจจะออกภายใน 7-10 วัน ซึ่งหากพบว่ามีอาการแพ้ ขอแนะนำว่าให้รีบเข้าพบแพทย์ในทันที เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าอาการแพ้นั้นเกิดจากสีที่เพนต์ หรือเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งหากแพ้สีที่เพนต์ แพทย์มักจะรักษาอาการโดยการจ่ายยาทาที่มีสารสเตียรอยด์ ทาเพียงไม่นานอาการแพ้ ผื่นคันหรือตุ่มน้ำใสก็จะหายไป อย่างไรก็ตาม สีเฮนน่าอาจจะทำให้เกิดรอยดำที่ผิวไม่นานก็จะจางหายไปเช่นกัน
"ขอแนะนำประชาชนที่อยากจะเพนต์สีต่าง ๆ ตามร่างกายโดยไม่จำเป็นว่าเป็นสีเฮนน่า หากกลัวว่าจะแพ้ ควรทดลองใช้สีนั้นนำมาแต้มลงที่ร่างกายดูก่อนโดยแต้มในจุดที่หากเกิดอาการแพ้แล้ว จะไม่เห็นเด่นชัด เช่น ต้นแขนหรือในร่มผ้า เมื่อลองแต้มดูสักระยะแล้วไม่พบอาการแพ้ก็สามารถเพนต์ได้ตามปกติ แต่หากแพ้ก็ให้เข้าพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยให้ถูกต้อง อย่าพยายามซื้อยามาทาเองเด็ดขาด" นพ.นภดลกล่าว
ด้าน ศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ตัวที่นำมาเติมในสีเพนต์เฮนน่า แล้วทำให้เกิดการแพ้ได้บ่อย มีชื่อว่า พาราเฟนนิลีนไดเอมีน หรือ พีพีดีที่เป็นสารประกอบตัวเดียวกันกับที่เราใช้เติมในน้ำยาย้อมผม ที่ทำให้เกิดสีเข้มต่างกัน ซึ่งการทำเฮนน่าอาร์ท หรือเฮนน่าแทททู นั้นจริง ๆ ทำกันมานานแล้ว แต่การเติมสีเพิ่อให้เข้มข้นขึ้นและทำให้เกิดสีเร็วขึ้นนั้น เพิ่งมีการนำมาใช้ในระยะหลัง เข้าใจว่ายังไม่มีการควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นจึงขอฝากเตือนสำหรับผู้ที่ทำเฮนน่าแทททูหรือเฮนน่าอาร์ต หรือเฮนน่าเพนท์ คือ ให้สังเกตสีที่ใช้มาทำเฮนน่านั้น หากมีสีเข้มหรือทำให้เกิดสีที่ออกดำชัดเจนมาก อาจจะมีการผสมของส่วนประกอบของพีพีดี จึงทำให้เกิดการแพ้ค่อนข้างง่ายกว่าการใช้สีเฮนนาธรรมชาติทั่วไป