กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์
Samsung Smart Learning Center "ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต" โครงการเพื่อสังคมของบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด นำเสนอการปรับใช้โมเดลห้องเรียนแห่งอนาคต ด้วยการนำนวัตกรรมของซัมซุงและกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning สนับสนุนครู-นักเรียน รร.เชียงยืนพิทยาคม และ รร.เครือข่ายอีก 5 โรงเรียน เกิดโครงการ 'ฮักนะ...ป่าใหญ่' เพื่อผลักดันโครงการอนุรักษ์ป่าสาธารณะโคกหนองคอง อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ปลูกจิตสำนึกชุมชน ร่วมผลักดันให้กลายเป็นป่าชุมชน
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา นักเรียนชุมนุม Samsung Discovery Club ชั้นมัธยมต้น รร.เชียงยืนพิทยาคม และนักเรียน รร.บ้านหินลาด รร.นาข่าวิทยาคม รร.มะค่าพิทยาคม รร.นาสีนวนพิทยาสรรค์ และ รร.หนองโพธิ์วิทยาคม จำนวนกว่า 150 คน ร่วมแสดงผลงานนิทรรศการวันแห่งการค้นพบโครงการ 'ฮักนะ...ป่าใหญ่' ณ รร.กู่ทองพิทยาคม อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม โดยมีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นภาคีเครือข่ายทางวิชาการ ซึ่งงานครั้งนี้ได้รับความสนใจ จากผู้ใหญ่หลายภาคส่วน อาทิ นายอำเภอ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศึกษานิเทศก์ และผู้ปกครองเข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ ผลงานที่ได้นำเสนอ เด็กนักเรียนได้ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ค้นคว้าและเรียนรู้เรื่องป่าไม้ และการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่าโคกหนองคอง โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้ป่าสาธารณะผืนนี้กลายเป็นป่าชุมชนในอนาคต
โครงการ 'ฮักนะ...ป่าใหญ่' เริ่มต้นเกิดจากเด็กนักเรียนในชุมนุมฯ รร.เชียงยืนพิทยาคม พบว่ามีขยะจำนวนมากบริเวณชายป่าในชุมชนของพวกเขา เด็กๆ จึงตั้งคำถามว่า พวกเขาต้องทำยังไงถึงจะรักษาป่าในชุมชนผืนนี้ของพวกเขาไว้ได้
คุณครูเพ็ญศรี ใจกล้า คุณครูที่ปรึกษาโครงการฯ รร.เชียงยืนพิทยาคม สนับสนุนให้เด็กๆ หาคำตอบกับสิ่งที่สงสัยด้วยการค้นคว้า ลงพื้นที่ และพัฒนาความรู้ด้วยตัวเอง ใช้กระบวนการเรียนการสอนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL: Problem-Based Learning) และตัวครูปรับเปลี่ยนบทบาทจากครูผู้สอนสู่การเป็นโค้ช
"เด็กพวกนี้เขามีความอยากรู้อยากเห็นไม่มีที่สิ้นสุด ดวงตาเขาเป็นประกาย กล้าที่จะค้นคว้า ในฐานะที่เราเป็นโค้ช เราต้องช่วยเหลือทุกวิถีทาง ในเมื่อเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ เด็กไม่รู้ เราก็ต้องพึ่งพิงข้างนอก เราจึงไปขอความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการเรียนรู้เกี่ยวกับป่าไม้ ส่วนกระบวนการและเครื่องมือซัมซุงก็เข้ามาช่วยในการสืบค้นของเด็กๆ ให้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น" ครูเพ็ญศรีกล่าว
เด็กนักเรียนลงมือหาคำตอบด้วยการลงพื้นที่สำรวจป่าโดยมีผู้รู้ในชุมชนคอยให้คำแนะนำ เก็บข้อมูลชนิดของต้นไม้ วัดขนาดของต้นไม้ และได้รับความรู้เกี่ยวกับป่าไม้จากอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จนแตกยอดไปสู่การคำนวณหาค่าการซึมซับคาร์บอนและการปล่อยออกซิเจนของต้นไม้ในป่า พบว่า ป่าโคกหนองคองพื้นที่ 1,600 ไร่ ปล่อยออกซิเจนให้ผู้คนได้มากถึง 132,317 คน ต่อปี
จากการพัฒนาโครงการอนุรักษ์ป่ากว่า 2 ปี จนก่อเกิดเป็นค่าย โครงการ "ฮักนะ...ป่าใหญ่" เพื่อขยายผลการผลักดันป่าโคกหนองคองให้เป็นป่าชุมชน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ รร.เชียงยืนพิทยาคม ร่วมมือกับโรงเรียนข้างเคียงอีก 5 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Samsung Smart Learning Center และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เข้ามาเป็นภาคีร่วมขับเคลื่อนโครงการ "ฮักนะ...ป่าใหญ่" อย่างเป็นทางการ
ดร.ญาณวุฒิ อุทรักษ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับป่าไม้ให้กับเด็กๆ กล่าวว่า "การเรียนรู้ของเด็กๆ กลุ่มนี้คือการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่เด็กๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนอยู่ในห้อง นั่งเรียนกับกระดานดำหรือคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาสามารถเรียนรู้จากบริบทในสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นครูของเขาได้ ในฐานะผู้ใหญ่เราสามารถสนับสนุนให้กำลังใจว่าที่เขาทำมาถูกทางแล้ว และสนับสนุนด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเขา เพื่อที่เขาจะได้ใช้ต่อยอดความรู้ของเขาได้อีกในอนาคต"
เด็กนักเรียนได้พิสูจน์แล้วว่าพลังการเรียนรู้ของพวกเขาขับเคลื่อนให้ผู้ใหญ่ในชุมชนหันมาตระหนักเรื่องการรักษาป่า สามารถทำให้ภาครัฐในท้องถิ่น ชาวบ้าน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมวงคุยถึงทิศทางในการสานต่อและพัฒนางานของเด็กๆ ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่า ควรปลูกจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์และร่วมกันขับเคลื่อนป่าสาธารณะโคกหนองคองให้เป็นป่าชุมชน
"โครงการ Samsung Smart Learning Center ยินดีอย่างยิ่งที่ห้องเรียนแห่งอนาคตและนวัตกรรมของเรา ช่วยเปิดโอกาสให้เด็กๆ และครูในโครงการฯ ได้เรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาในชุมชน และยังได้ใช้ความรู้นี้ไปรณรงค์ปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่าและการสำนึกรักท้องถิ่น ความสำเร็จของโครงการ 'ฮักนะ...ป่าใหญ่' คือภาพสะท้อนว่าความใคร่รู้ของเด็กคือสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ขอเพียงผู้ใหญ่สนับสนุนและเห็นค่าในการเรียนรู้ของพวก" คุณวรรณา สวัสดิกูล รอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าว