อย.เตือนอันตรายจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องประดับ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 19, 2001 10:33 —ThaiPR.net

นนทบุรี--19 ธ.ค.--อย.
อย.เตือนอันตราย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องประดับประเภท เงิน ทอง นาก มีสารออกฤทธิ์ประเภทเกลือไซยาไนด์ หรือกรด จัดเป็นวัตถุอันตรายในความควบคุมของ อย.หากใช้โดยไม่ระมัดระวังอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ร้านค้าต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตหรือแจ้งการดำเนินการถูกต้องแล้วเท่านั้น มิฉะนั้นจะได้รับโทษทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีเลขทะเบียน อย. และปฏิบัติตามข้อความบนฉลากอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย
ภญ.ระวิวรรณ ปรีดีสนิท รักษาการรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องประดับ เงิน ทอง นาก ที่วางจำหน่ายตามร้านจำหน่ายเครื่องเงินซึ่งประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ประเภทเกลือไซยาไนด์ หรือกรด จัดเป็นสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งพิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรัง โดยเกลือไซยาไนด์ ได้แก่ โซเดียม ไซยาไนด์ และโปตัสเซียม ไซยาไนด์ ก่อให้เกิดพิษเฉียบพลันต่อตา ทำให้รูม่านตาขยาย กระจกตาบวมน้ำ เมื่อสัมผัสผิวหนังจะเกิดอาการระคายเคืองและเกิดแผลเปื่อย หากสูดดมหรือรับประทานในปริมาณมากจะมีอาการหน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว ความดันสูง ปวดศีรษะ และมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับกรด พบว่ามีการใช้กรดไฮโดรคลอริก ซึ่งก่อให้เกิดพิษเฉียบพลันจากการับประทาน คือเกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงจากการกัดกร่อนของเนื้อเยื่อบริเวณปากคอหอยและช่องท้อง มีอาการอาเจียน ถ่ายเหลวสีคล้ำ ความดันลด หลอดอาหารกระเพาะอาหารทะลุเมื่อสูดดมจะเกิดอาการไอ สำลัก ปวดศีรษะ ปอดบวม หายใจลำบาก หากสัมผัสผิวหนังจะมีรอยไหม้และเป็นรอยแผลเป็น หากเข้าตากระจกตาจะถูกทำลาย สำหรับพิษเรื้อรังจากการสูดดมพบว่า ทำให้ฟันถูก กัดกร่อน มีอาการระคายเคืองหลอดลม ไอเรื้อรัง ปอดอักเสบ กระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานผิดปกติ
ภญ.ระวิวรรณ ปรีดีสนิท กล่าวต่อไปว่าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องประดับ เงิน ทอง นาก นี้จัดเป็นวัตถุอันตรายที่อยู่ในความควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยหากประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ประเภทกรด จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ผู้ผลิตนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง จะต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตประกอบการ หาก ฝ่าฝืนไม่ขึ้นทะเบียนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากไม่ขออนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่เป็นสารออกฤทธิ์ประเภทเกลือไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 จะต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนและแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หากฝ่าฝืนไม่ขึ้นทะเบียนจะต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากไม่แจ้งการดำเนินการจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ร้านค้าเครื่องประดับ เงิน ทอง นาก ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดดังกล่าว จะต้องเลือกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตหรือแจ้งการดำเนินการถูกต้องแล้วเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับการเลือกซื้อของผู้บริโภคนั้น ควรสังเกตว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีเครื่องหมาย อย.ภายในกรอบมีตัวอักษร วอส.พร้อมเลขทะเบียน/ปีพ.ศ. และฉลากมีข้อความแสดงประโยชน์ วิธีใช้ คำเตือน การเก็บรักษาและวิธีการแก้พิษ ซึ่งข้อความเหล่านี้จะช่วยให้สามารถเลือกซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกวิธี และในกรณีที่มีผู้ได้รับสารพิษ ญาติหรือผู้อยู่ใกล้ชิดก็สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นตามวิธีแก้พิษที่ปรากฎอยู่บนฉลากได้ก่อนนำผู้ป่วยส่งแพทย์ นอกจากนี้การเก็บรักษาก็เป็น สิ่งสำคัญโดยให้แยกเก็บผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายจากของกินของใช้อื่นและเก็บในที่ปลอดภัยห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะช่วยห้องกันมิให้เกิดอันตรายจากความผิดพลาดในการหยิบใช้วัตถุอันตรายชนิดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเด็กได้รับสารพิษจะก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ รักษาการรองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ