กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--i2C Communications
กลุ่ม KTIS เผยพนักงานร่วมใจหีบอ้อยได้ตามเป้าหมาย คาดปิดหีบปีนี้มีอ้อยเข้าหีบถึง 8.5 ล้านตัน สูงกว่าปีก่อนถึง 1 ล้านตัน หรือกว่า 13% ส่งผลดีต่อเนื่องไปยังทุกสายธุรกิจ ทั้งโรงไฟฟ้า เอทานอล เยื่อกระดาษ โดยเฉพาะในสายธุรกิจน้ำตาล ทั้งนี้ จากคุณภาพอ้อยที่ดี ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้นอย่างมาก จึงคาดว่าหลังปิดหีบแล้วจะได้น้ำตาลมากกว่าปีก่อนเกินกว่า 20% ประกอบกับราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปีนี้ที่อยู่ในระดับโดยเฉลี่ยสูงกว่า 20 เซนต์ต่อปอนด์ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 13-14 เซนต์ต่อปอนด์ จึงส่งผลให้ผลการดำเนินงานปี 2560 นี้ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง
นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลหีบอ้อยของปีการผลิต 2559/60 ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 โรงงานน้ำตาลในกลุ่ม KTIS ทั้ง 3 โรง สามารถหีบอ้อยได้รวม 5.52 ล้านตัน ซึ่งสามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้เฉลี่ย 101 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เป็นผลผลิตน้ำตาลรวมประมาณ 5.57 ล้านกระสอบ หรือ 557 ล้านกิโลกรัม เมื่อเทียบกับการผลิตปีก่อน ที่จำนวนอ้อยเข้าหีบ 5.52 ล้านตัน ผลิตเป็นน้ำตาลได้เพียง 4.82 ล้านกระสอบ หรือประมาณ 90 กก.ต่อตันอ้อยเท่านั้น เท่ากับว่าจากปริมาณอ้อยเข้าหีบเท่าๆ กันของปีที่แล้วกับปีนี้ สามารถผลิตน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นถึง 0.75 ล้านกระสอบ หรือเพิ่มขึ้น 15.6% ซึ่งคิดเป็นรายได้สูงขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาท ในขณะที่คาดไว้ว่าเมื่อสิ้นสุดการหีบอ้อยทั้งหมด กลุ่ม KTIS จะมีอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตนี้ถึง 8.5 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนซึ่งได้อ้อยประมาณ 7.5 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้น 1 ล้านตัน ดังนั้น ปริมาณน้ำตาลที่จะผลิตได้ก็จะเพิ่มมากขึ้นในอัตราที่สูงด้วย
"ที่สำคัญคือคุณภาพอ้อยที่ดีขึ้น ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยปีนี้ดีขึ้นอย่างมาก ล่าสุดทำได้เฉลี่ยประมาณ 101 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และแนวโน้มจะดีขึ้นอีกในช่วงระยะเวลาหีบที่เหลือ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ตลอดฤดูการผลิต ได้น้ำตาลเพียง 96 กก.ต่อตันอ้อย ดังนั้น หากปีนี้ได้อ้อยตามเป้าหมาย 8.5 ล้านตัน ด้วยผลผลิตน้ำตาลไม่น้อยกว่า 101 กก.ต่อตันอ้อย ก็จะได้น้ำตาลไม่น้อยกว่า 8.6 ล้านกระสอบ ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้วมากกว่า 20% (ปีที่แล้วผลิตน้ำตาลได้ 7.2 ล้านกระสอบ)" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าว
นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า อ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตสินค้าของกลุ่ม KTIS ดีขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งนอกจากจะสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้มากขึ้นแล้ว ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งเยื่อกระดาษ เอทานอล และไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก็จะได้ปริมาณมากขึ้นด้วย ในขณะที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้น จากช่วงต้นปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 13-14 เซนต์ต่อปอนด์ มาที่ 20-21 เซนต์ต่อปอนด์ ทำให้มั่นใจว่าผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในปี 2560 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
สำหรับเหตุปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตอ้อยปีนี้สูงกว่าปีก่อน นอกจากเรื่องของปริมาณน้ำฝนที่มีมากกว่าปีก่อนแล้ว ยังเป็นเพราะความร่วมแรงร่วมใจกันเป็นอย่างดีของพนักงานทุกฝ่ายในกลุ่ม KTIS เพื่อแก้ไขปัญหาในปีที่ผ่านมาด้วย โดยฝ่ายไร่ซึ่งเกาะติดอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกอ้อย จะลงไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น ปัญหาเรื่องน้ำ เรื่องพันธุ์อ้อย มาจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ก็พยายามจะให้ได้อ้อยที่สะอาดและมีคุณภาพดีที่สุด ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยจึงสูงขึ้นมาก ในขณะที่ฝ่ายโรงจักรก็ดูแลเครื่องจักรต่างๆ เป็นอย่างดี ทำให้เครื่องจักรทำงานได้เต็มศักยภาพ
"ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาในปีที่ผ่านมาของพนักงานทุกคน ทำให้การหีบอ้อยในฤดูการผลิตนี้สามารถทำได้ดีเกินคาด เช่นโรงงานน้ำตาลเกษตรไทย ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 55,000 ตันอ้อยต่อวัน และเราตั้งเป้าว่าจะต้องหีบอย่างราบรื่นให้ได้เต็มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง เราก็สามารถทำได้" นายณัฎฐปัญญ์กล่าว
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการดำเนินงานของปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวม 15,086.59 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 512.53 ล้านบาท นั้น เป็นผลกระทบจากปริมาณและคุณภาพอ้อยในฤดูการผลิต 2558/59 ต่ำกว่าปีก่อนหน้านั้นมาก อันเนื่องมาจากภาวะภัยแล้งในพื้นที่ที่ถือว่ารุนแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะทำให้สายธุรกิจน้ำตาลมีรายได้และกำไรลดลงแล้ว ยังส่งผลไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วย เพราะมีปริมาณวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตน้อยลง อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กลุ่ม KTIS ก็ได้กำหนดแผนงานต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดต่อไปในอนาคต เช่น การร่วมกับภาครัฐและชาวไร่อ้อยจัดทำโครงการประชารัฐในการขุดเจาะบ่อบาดาลมาตรฐาน ซึ่งจะแก้ปัญหาภัยแล้งได้ทุกๆ ระดับ เกือบ 300 บ่อในพื้นที่ เป็นต้น