กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--ปตท.
ปตท.กำลังดำเนินมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะกลาง เพื่อช่วยชะลอต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะมีทั้งมาตรการที่ ปตท. ดำเนินการเอง และเจรจากับผู้ผลิตก๊าซฯ ชี้การทำสัญญาก๊าซฯ อาจดีที่สุดในเวลานั้น แต่ต้องปรับให้เหมาะสมหากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เชื่อผู้ผลิตทุกรายจะเห็นใจคนไทยและให้ความร่วมมือ
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ปตท.ก๊าซธรรมชาติ เปิดเผยว่า จากการที่ ปัจจุบันประเทศต้องประสบปัญหาภาวะน้ำมันที่แพงขึ้น 8 %(จากราคาน้ำมันดิบดูไบ 22.8 เป็น 24.7 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล) และค่าเงินบาทอ่อนตัวลง 21%(จาก 38 เป็น 45.8 บาท/เหรียญสหรัฐฯ) เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนของปี 2543 ซึ่งภาวะดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาก๊าซธรรมชาติที่ต้องปรับตัวสูงขึ้น เพราะสูตรที่ใช้ในการซื้อขายก๊าซฯ มี “ราคาน้ำมันเตา และอัตราแลกเปลี่ยน“ เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย
ผู้จัดการใหญ่ ปตท. ก๊าซฯ ชี้แจงว่า ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วยเหตุผลดังกล่าว ได้ส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาคการผลิตไฟฟ้าด้วย เพราะปัจจุบันสัดส่วนของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้นใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 60% เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดและราคาถูก ดังนั้นแม้ว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ จะต่ำกว่าน้ำมันเตาอยู่แล้ว แต่เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้บริโภค และช่วยรัฐบาลกอบกู้เศรษฐกิจ ปตท.จึงได้พิจารณากำหนดมาตรการ ทั้งระยะสั้น และระยะกลาง เพื่อชะลอการปรับราคาก๊าซธรรมชาติ และการปรับค่าไฟผันแปร(FT)บางส่วน ซึ่งจะต้องดำเนินการในหลายรูปแบบ ทั้งด้วยตนเอง และประสานงานกับภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือจากผู้ผลิตก๊าซฯ เพื่อให้เกิดผลโดยเร็วที่สุดผู้จัดการใหญ่ ปตท.ก๊าซฯ กล่าวว่าหากกลุ่มผู้ผลิตเห็นใจคนไทยที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ โดยให้ความร่วมมือในการปรับสัญญา ปตท.ก็จะส่งผ่านผลที่ได้รับทั้งหมดไปยังผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ค่า FT ลดลงได้ เพราะในความเป็นจริง ค่าไฟฟ้าประกอบด้วยค่าไฟฟ้าฐาน บวกกับค่า FT ซึ่งในการปรับค่า FT ครั้งล่าสุด(ก.พ.-พ.ค. 44)ที่เพิ่มขึ้น 24.44 สต./ยูนิต นั้น มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาค่าก๊าซฯ 60 % หรือเท่ากับ 14.39 สต./ยูนิต (อีก 40 % เป็นค่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน รวมถึงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) โดยในส่วนของ FT ที่เพิ่มขึ้น 14.39 สต./ยูนิต นั้น 97.71% เกิดจากค่าเนื้อก๊าซฯที่ปตท.ซื้อจากผู้ผลิต หรือเท่ากับ 14.06 สต./ยูนิต ที่เหลือเป็นค่าดำเนินการจัดหาก๊าซฯ และค่าผ่านท่อของ ปตท. สำหรับมาตรการระยะสั้นที่ ปตท. กำลังดำเนินการอยู่คือ การจัดสัดส่วนปริมาณรับก๊าซฯจากแหล่งในอ่าวและพม่าเพื่อให้มีต้นทุนโดยรวมต่ำที่สุด และขณะเดียวกันก็เร่งดำเนินการเจรจากับผู้ผลิตก๊าซฯ เพื่อขอเกลี่ยราคาก๊าซฯในช่วงที่มีความผันผวน ให้มีราคาเฉลี่ยที่สม่ำเสมอ ส่วนมาตรการต่อไปในระยะกลาง ปตท. จะเร่งเจรจาปรับปรุงเงื่อนไขสัญญาฯและสูตรปรับราคาก๊าซฯให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะดัชนีที่ใช้เป็นองค์ประกอบในการคำนวณราคา เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนจากระบบตระกร้าเงินมาเป็นระบบลอยตัว
อนึ่ง ผู้จัดการใหญ่ ปตท.ก๊าซฯ เชื่อว่าสัญญาเดิมที่ทำไว้ในอดีตเป็นเรื่องที่เหมาะสมและดีที่สุดในเวลานั้น เนื่องจากทุกสัญญาผ่านการกลั่นกรองอย่างดีจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ปตท. สพช. คณะกรรมการปิโตรเลียม สำนักงานอัยการสูงสุด และสุดท้าย จึงอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ดีเมื่อสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมต่างๆเปลี่ยนไป โดยเฉพาะภาวะราคาตลาดน้ำมันโลกสูงขึ้น และค่าเงินบาทอ่อนตัวซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอปรับราคา ซึ่งทุกฝ่ายคงเข้าใจ และช่วยเหลือกัน
ผู้จัดการใหญ่ ปตท.ก๊าซฯ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ความจริงการนำก๊าซธรรมชาติ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า นั้นจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น (รวมการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และราคาเชื้อเพลิง) ทั้งนี้ยังไม่รวมต้นทุนทางสังคม ซึ่งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ จะมีมลพิษน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นอีกด้วย โดยปัจจุบันเมื่อคำนวณราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติที่ส่งถึงโรงไฟฟ้าแล้ว จะมีราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันเตา ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทดแทนประมาณ 20 % ทำให้ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ประเทศสามารถประหยัดเงินค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,600 ล้านบาท ดังนั้นหากไม่มีการใช้ก๊าซฯ แทนน้ำมันเตาก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงกว่าปัจจุบัน--จบ--
-สส-