กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนเชิงรุกครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย พร้อมระดมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์สนับสนุนการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว รวมถึงสำรวจ จัดทำบัญชีความเสียหาย และให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อีกทั้งเร่งฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกด้าน
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ระยะนี้หลายพื้นที่มีสภาพอากาศแปรปรวน และได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สิน รวมถึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยความปลอดภัยของประชาชน จึงได้กำชับให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนเชิงรุก และวางแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง หากมีประกาศเตือนพายุฤดูร้อน ให้แจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตก การเตรียมพร้อมรับมือ โดยจัดชุดเฝ้าระวัง ชุดเคลื่อนที่เร็ว อาสามัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบลออกปฏิบัติการในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบ ปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่สาธารณะ และต้นไม้ริมข้างทางให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ตลอดจนเข้มงวดตรวจสอบป้ายโฆษณาที่มีความสูง 10 เมตรขึ้นไป หรือใช้พื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไปหากอยู่ในสภาพชำรุด ติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน และฝ่าฝืนกฎหมาย ให้แจ้งเจ้าของป้ายดำเนินการแก้ไข หากไม่ปฏิบัติตามให้พิจารณารื้อถอนและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนป้ายโฆษณาที่มีความสูง 15 เมตรขึ้นไป หรือติดตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป ให้เจ้าของป้ายจัดหาผู้ตรวจสอบที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมาดำเนินการตรวจสอบป้ายโฆษณา พร้อมรายงานผลการตรวจสอบให้เจ้าพนักงานพิจารณาออกใบรับรองความปลอดภัยของป้ายโฆษณา การช่วยเหลือและฟื้นฟู โดยนำเครื่องอุปโภคบริโภค วัสดุซ่อมแซมบ้านเรือน อาทิ กระเบื้องมุงหลังคา สังกะสี ตะปู ไม้ แจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเจ้าหน้าที่สำรวจความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง อาทิ กระเบื้อง สังกะสี ตะปู ไม้ หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม อีกทั้งเร่งฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกด้าน