สมอ. เดินหน้าส่งเสริม “มาตรฐาน มผช.” สร้างเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง

ข่าวทั่วไป Wednesday March 1, 2017 17:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สมอ. ติดตามความคืบหน้าถ่ายโอนงานหน่วยรับรองมาตรฐาน มผช. ให้จังหวัดดำเนินการ หลังถ่ายโอนเสร็จสิ้น ม.ค. ที่ผ่านมา เดินหน้าสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข็มแข็ง ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ก้าวไกล มีศักยภาพจาก OTOP ต่อยอดสู่ SMEs ที่มั่นคงและเพิ่มยอดส่งออก ด้วยมาตรฐาน มผช. สอดคล้องนโยบายรัฐสร้างชาติเข้มแข็ง Thailand 4.0 พร้อมชมตัวอย่างความสำเร็จด้านงาน มผช. จังหวัดน่าน นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. มีบทบาทภารกิจด้านการกำหนดมาตรฐาน และการรับรอง ทั้งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อความปลอดภัยคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน สมอ. ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ไม่ซับซ้อน สอดคล้องกับวิธีการผลิตของผู้ผลิตในชุมชน เกิดการนำไปปฏิบัติได้โดยง่าย แต่สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดีสม่ำเสมอ จนถึงปัจจุบัน สมอ. ได้ประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนแล้ว จำนวน 1,338 มาตรฐาน โดยในปี 2560 มีเป้าหมายจะกำหนดมาตรฐาน มผช. ใหม่ และแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานเดิมให้เหมาะสมทันสมัยรวม 48 มาตรฐาน ด้านการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยการอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน แก่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน สมอ. ได้ถ่ายโอนงานการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนให้หน่วยรับรองในระดับจังหวัดแก่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศครบแล้วทั้ง 76 จังหวัด ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา การถ่ายโอนในครั้งนี้นั้นเป็นการถ่ายโอนให้กับ สอจ. ที่เหลือจำนวน 56 จังหวัด ซึ่งเริ่มดำเนินการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา หลังจากที่ถ่ายโอนไปแล้วจำนวน 20 จังหวัดเมื่อปี 2549 ได้แก่ กระบี่ จันทบุรี เชียงใหม่ ตรัง นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส พะเยา พังงา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก ภูเก็ต ระยอง ลำปาง ศรีสะเกษ สงขลา สตูล อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดย สมอ.จะให้การรับรอง มผช. เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับในปี 2560 ได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการรับรอง มผช. รายใหม่ๆ ในทั่วประเทศ ไห้ได้อีกจำนวน 3,500 ราย พร้อมกับทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจติดตามเพื่อให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนดำเนินไปในแนวทางเดียวกัน รักษาคุณภาพให้อยู่ในระดับมาตรฐานอย่างต่อเนื่องภายหลังจากที่ได้รับการรับรอง มผช.แล้ว ขณะเดียวกันจะดำเนินการพัฒนาและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ต้องการได้รับการรับรองคุณภาพ มผช. ทั้งที่เป็นการพัฒนาสินค้าโอทอป กรณีที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพ มผช. ให้มีความรู้ความเข้าใจในการผลิตที่ถูกต้อง ก้าวหน้าจนมีศักยภาพสูงขึ้น และสามารถยื่นขอรับการรับรองคุณภาพ มผช. ได้ ตลอดจนยกระดับสินค้าโอทอปที่มีศักยภาพสูงอยู่แล้วให้มีความรู้และเข้าใจในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือเคยได้รับเครื่องหมาย มผช. แล้วให้เติบโตขึ้น เป็นสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีที่เข็มแข็ง ด้วยคุณภาพ มผช. และสามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและโอทอปให้แข่งขันได้ในตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ "การยกระดับการผลิตสินค้าโอทอปโดยใช้การควบคุมคุณภาพตาม มผช. เพื่อให้สินค้าโอทอปเป็นที่ยอมรับและเพิ่มความเชื่อถือแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างอาชีพให้กับผู้ผลิตสินค้าโอทอปที่มีความยั่งยืน เกิดเป็นชุมชนที่เข็มแข็ง ต่อยอดธุรกิจชุมชนท้องถิ่น จากธุรกิจฐานราก เกิดเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ดึงเอสเอ็มอีคืนถิ่น สู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดีเด่นประจำจังหวัด สร้างฐานอนาคตสินค้ามาตรฐานสู่การส่งออกมูลค่าสูง อันเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น ด้วยคุณภาพ มผช.ให้เติบโตอย่างมั่นคง เมื่อจังหวัดมีสินค้าชุมชนที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพสูง จะเป็นการยกระดับเศรษฐกิจให้เป็นจังหวัดเข็มแข็ง ตามเป้าหมายรัฐบาลในการผลักดันเศรษฐกิจจังหวัดให้เป็นจังหวัดก้าวหน้าบนรากฐานความเข็มแข็งต่อไป และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ" เลขาธิการ สมอ. กล่าว ส่วนงานการรับรอง มผช. ระดับจังหวัด ประกอบด้วยกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การรับคำขอ การตรวจสถานที่ทำ การเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ส่งหน่วยตรวจสอบ การประเมินผลการตรวจสอบสถานที่ทำและผลิตภัณฑ์ตามที่ มผช. กำหนด จัดประชุมคณะกรรมการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนระดับจังหวัด และการออกใบรับรอง มผช. โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการ เป็นผู้ลงนามในใบรับรองให้แสดงเครื่องหมาย มผช. ล่าสุดปี 2559 รวมยอดการให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยหน่วยรับรอง มผช. ระดับจังหวัด แล้วจำนวน 10,569 ราย จากยอดรวมทั่วประเทศทั้งหมด 74,168 ราย นายสำเริง สวัสดีนฤนาถ อุตสาหกรรมจังหวัดน่าน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน กล่าวว่า น่านเป็นจังหวัดที่ได้รับการถ่ายโอนงานในปีนี้ ซึ่งได้จังหวัดพะเยาและจังหวัดเชียงรายเป็นพี่เลี้ยงเตรียมการในทางปฏิบัติ น่านเป็นจังหวัดเด่นที่มีกลุ่มสินค้าท้องถิ่นพื้นบ้านที่มีศักยภาพสามารถส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนมีคุณภาพสูงต่อไป อาทิ สินค้าสมุนไพรไทยสามารถผลักดันให้เป็นสินค้านำร่องที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยได้ในอนาคต สมอ. มีแผนจะกำหนดมาตรฐานสมุนไพรขึ้นเป็นครั้งแรก และอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรฐานสมุนไพร 10 ประเภท ได้แก่ มะขามป้อม กระชายดำ สารสกัดใบบัวบก ฟ้าทะลายโจร กาวเครือขาว น้ำมันขมิ้น น้ำมันไพร น้ำมันมะกรูดไทย น้ำมันตะไคร้หอม และน้ำมันทิพส้มโอ ด้านกลุ่มชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของชุมชนต้นแบบเข้มแข็ง ด้วยการนำวัตถุดิบสมุนไพรในท้องถิ่นมาแปรรูปด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนได้เป็นเครื่องสำอางสมุนไพรคุณภาพนานาชนิด ก่อนสริมด้วยการสร้างมาตรฐานทั้งการบริหารกลุ่ม และการผลิต สามารถส่งสินค้าออกสู่ตลาดได้อย่างจริงจัง และถูกใจผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของชุมชนน้ำเกี๋ยน มีส่วนสำคัญสร้างให้ชุมชนเกิดความสุขยั่งยืน เพราะประชาชนในชุมชนสามารถทำงานในบ้านเกิด มีรายได้เพียงพอจะดูแลตัวเอง ชุมชนสามารถคงวิถีชีวิต และรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในท้องถิ่นให้สมบูรณ์เหมือนที่เคยเป็นมา นางศิรินันท์ สารมณฐี ผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน หนึ่งในคณะกรรมการบริหาร และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันกลุ่มให้ประสบความสำเร็จ กล่าวว่า เริ่มต้นจากชาวบ้านเพียงไม่กี่คนอยากลดรายจ่าย และลดการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน ด้วยการนำสมุนไพรในท้องถิ่น เช่น ใบหมี่ ดอกอัญชัน มะเฟือง มะกรูด มะขาม ขมิ้นชัน เป็นต้น อาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมของผู้เฒ่าผู้แก่ บวกความรู้สมัยใหม่ ลองผิดลองถูกทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในครัวเรือน เช่น ชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน เป็นต้น จากที่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ ที่ทดลองทำขึ้น ใช้แล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ประกอบกับในท้องถิ่นมีวัตถุดิบพืชสมุนไพรต่างๆ อยู่จำนวนมาก ทางกลุ่มจึงคิดต่อยอดขายผลิตภัณฑ์สู่ตลาดเพื่อจะสร้างรายได้แก่ชาวชุมชน พัฒนาโครงการนำสมุนไพรในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด พัฒนาให้สินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น จนผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) อุตสาหกรรมจังหวัดน่าน กล่าวเสริมอีกว่า บริษัท ดอยซิลเวอร์ แฟคตอรี่ จำกัด นับเป็นหนึ่งในผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนเด่น (สินค้าโอทอป) ของจังหวัดน่านเช่นกันที่สามารถควบคุมกระบวนการผลิตเครื่องเงินที่ได้มาตรฐานอย่างดี โดย สมอ. ได้ให้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาอย่างต่อเนื่องจนขณะนี้ ดอยซิลเวอร์ แฟคตอรี่ ได้เติบโตกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ต้นแบบเอสเอ็มอีชุมชนเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าในประเทศ และได้รับความนิยมจากลูกค้าต่างประเทศจำนวนมาก เครื่องเงินที่ผลิตได้กลายเป็นสินค้าส่งออกถึงร้อยละ 80 ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล อีกหลายประเทศในยุโรป ทำรายได้และนำเงินเข้าประเทศปีละหลายแสนเหรียญสหรัฐ นางพิมพร รุ่งรัชตะวานิช รองประธานบริษัท ดอยซิลเวอร์ จำกัด ที่ปรึกษาคลัสเตอร์เครื่องเงิน จังหวัดน่าน กล่าวว่า ได้เริ่มต้นธุรกิจขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ด้วยการชักชวนชาวบ้านร่วมชาติพันธ์ที่ทำเครื่องเงินอาชีพดั้งเดิมของชาวไทยภูเขา ชิ้นงานเครื่องเงิน ทั้งเครื่องประดับ เครื่องใช้ และสิ่งของรูปแบบต่างๆ สวยงามจนแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นฝีมือของช่างทำเครื่องเงินชาวไทยภูเขา ที่รวมตัวจากชนเผ่าต่างๆทั้งม้ง เมี่ยน และลั๊วะ ในเขตพื้นที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน ฝีมือหัตถกรรมพื้นบ้านในอดีต ที่ประดิษฐ์กันตามบ้าน และเป็นเครื่องประดับประจำชนเผ่า จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน และยังเป็นศูนย์หัตถกรรมเครื่องเงินที่ได้สืบสานศิลปหัตกรรมเครื่องประดับเงินจากบรรพบุรุษรุ่นปู่สืบทอดมาสู่รุ่นลูกหลาน ด้วยประสบการณ์ด้านเครื่องประดับเงินมากกว่า 70 ปี มีช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องประดับเงินมากกว่า 200 คน
แท็ก thailand   สมอ.   otop   SME  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ