กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กระทรวงแรงงาน โดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระดมความเห็นผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิจารณากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ เพิ่มกติกาเจรจาต่อรองนายจ้างลูกจ้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านแรงงานและมาตรฐานสากล
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาไตรภาคีเพื่อรับฟังความคิดเห็น เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ..... ณ ห้องรัชวิภา อาคารธารทิพย์ ชั้น ๒ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นกฎหมายที่กำหนดแนวทางปฏิบัติต่อกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน สามารถเจรจาต่อรองและทำข้อตกลงเรื่องสิทธิ หน้าที่และผลประโยชน์ร่วมกันได้ด้วยความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับมากว่า ๔๐ ปี บทบัญญัติบางประการอาจไม่สอดคล้องกับการพัฒนาด้านแรงงานสัมพันธ์และสภาพการทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับมีข้อเสนอจากผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาดำเนินการจนเป็นร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.... การสัมมนาในวันนี้เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ได้ทราบถึงหลักการเหตุผลและเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ดังกล่าว ตลอดจนร่วมแสดงขอคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่อไป
รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสาระสำคัญที่ได้มีการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมขึ้นในร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. .... เช่น การกำหนดระยะเวลายื่นข้อเรียกร้องของฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง การรับรองสิทธิปิดงานหรือนัดหยุดงานตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด การเพิ่มทางเลือกในการระงับข้อพิพาทแรงงาน การยกเลิกการจดทะเบียนสหภาพแรงงานเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านแรงงานและมาตรฐานสากล