กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
"ฝนหลวง" เป็นศาสตร์พระราชา เปรียบเสมือนหนึ่ง "มรดกจากพ่อ" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานให้แก่คนไทยและประเทศไทยทั่วแผ่นดิน ซึ่งใน 60 ปีที่ผ่านมา เราต่างประจักษ์กันดีถึงคุณูปการของ "ฝนหลวง" ที่สามารถช่วยให้เรารอดพ้นจากวิกฤติภัยธรรมชาติมาแล้ว นับร้อยนับพันเหตุการณ์ ทั้งภัยแล้ง ไฟป่า หมอกควัน หรือแม้กระทั่งการเติม "น้ำต้นทุน" ให้กับอ่างเก็บน้ำ เขื่อนและป่าต้นน้ำแหล่งต่างๆ เพิ่มความชุ่มชื่นให้กับป่าไม้ทั่วประเทศ ก็ล้วนแล้วแต่มี "ปฏิบัติการฝนหลวง" เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
"เทคโนโลยีฝนหลวง" จึงนับเป็นนวัตกรรมและศาสตร์อันยิ่งใหญ่ที่สามารถเอาชนะภัยธรรมชาติ และมิได้เป็นเพียง "มรดกจากพ่อ" ที่เราต้องรักษาเอาไว้ให้ดีเท่านั้น แต่ยังสมควรต้องนำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อให้สามารถนำไปแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ให้สมดัง พระราชปณิธานของพระองค์ท่านอย่างสมบูรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงหลวงและการบินเกษตร ในฐานะเป็นองค์กรที่ได้รับพระบรมราชานุญาต ให้รับสนองพระราชดำริในการนำเทคโนโลยีฝนหลวงไปใช้และพัฒนา เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมทั้ง ร่วมจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เพียงพอ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึง จึงมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นผู้ปฏิบัติภารกิจอันทรงเกียรติเพื่อสนองพระราชประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้ จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน พบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนของประเทศทั้งในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่างๆ ยังคงมีอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มากนัก โดยภาพรวมปริมาณน้ำที่ใช้การได้ใน 34 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 มีน้ำใช้การได้ 24,273 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 47 ขณะที่ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสัก ชลสิทธิ์ มีน้ำใช้การได้รวมกัน 7,116 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 39
โดยสถานการณ์ดังกล่าว แม้จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบในช่วงฤดูแล้ง ทั้งด้าน การเพาะปลูก การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การหนุนสูงของน้ำเค็ม การผลิตน้ำประปา รวมถึงการเกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควัน แต่ขอให้เกษตรกรและประชาชนทุกคนวางใจ เนื่องจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือเหตุไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นเอาไว้แล้ว นับตั้งแต่การวางแผน การเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง การบริหารจัดการน้ำ และโดยเฉพาะ "ปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง" ที่พร้อม จะขึ้นบินปฏิบัติการได้ทันทีนับตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป และจะดูแลประชาชนทุกคนไปจนกว่าประเทศไทย จะพ้นช่วงเวลาของฤดูแล้ง
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่รัฐบาล ได้กำหนดวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือ "ไทยแลนด์ 4.0" ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีการปฏิรูปด้านต่างๆ ในการพัฒนาประเทศ กรมฝนหลวงฯ จึงได้ปรับทิศทางและเป้าหมายองค์กรในอีก 20 ปีข้างหน้าให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว โดยวางยุทธศาสตร์ในการก้าวไปสู่ความเป็น "ฝนหลวง 4.0"ภายใต้วิสัยทัศน์ "กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชา ภายในปี 2579" ซึ่งจะน้อมนำแนวทางจากตำราฝนหลวงพระราชทาน มาใช้ เป็นพื้นฐานดำเนินงานให้ไปสู่เป้าหมาย
"ตัวชี้วัดความสำเร็จของการไปสู่เป้าหมายครั้งนี้ คือ กรมฝนหลวงฯ จะก้าวสู่การเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับนานาชาติ และแก้ไขปัญหาพื้นที่ประสบภัยแล้งได้ 100% ซึ่งมีการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติ ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ ด้านการบิน และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ"
ส่วนแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2560 นั้น อธิบดีกรมฝนหลวงฯ เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการ ฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ ได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10-12 หน่วย เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด โดยกรมฝนหลวงฯ จะเริ่มเปิด "ยุทธการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง" ประจำปี 2560 อย่างเป็นทางการในวันที่ 3 มีนาคม 2560 ที่สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ โดยมีภารกิจสำคัญ คือ การทำฝนเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศหรืออ่างเก็บน้ำที่มี ปริมาณน้อย โดยเฉพาะการเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนลำตะคอง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของน้ำใช้การได้ นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมพร้อมสำหรับปฏิบัติการเสริมอื่นๆ เช่น การลดปัญหาหมอกควัน การเพิ่มความชุ่มชื้น ในดิน และยับยั้งการเกิดลูกเห็บจากพายุฤดูร้อน
โดยภายในงาน นอกจากจะมีพิธีทางศาสนา การให้โอวาทเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่นักบินและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น การจัดนิทรรศการชุด "ด้วยศาสตร์ ของพระราชา นำพาฝนหลวงก้าวไกลในต่างแดน" เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช องค์พระบิดาแห่งฝนหลวง นิทรรศการของหน่วยงานความร่วมมือ อาทิ กองทัพอากาศ ปตท. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งขาติ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นต้น และการแสดง การบินหมู่ของเครื่องบินชุดปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีการทั้งหมดแล้ว ฝูงบินฝนหลวง จะถูกส่งออกไปปฏิบัติการสู้ภัยแล้งเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศทันที
อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ย้ำด้วยว่า สิ่งสำคัญที่อยากให้ความมั่นใจกับประชาชนทุกคน คือ กรมฝนหลวงฯ มีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะอยู่เคียงข้างกับประชาชนในการต่อสู้กับภัยธรรมชาติ ไม่ว่าวิกฤติภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า เพราะนี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ภารกิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น แต่นี่ยังเป็นภารกิจเพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงต้องการช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากความทุกข์ยากให้ได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนทุกคนมั่นใจว่า กรมฝนหลวงฯ จะทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง และจะพัฒนา "เทคโนโลยีฝนหลวง" ซึ่งเป็นศาสตร์และมรดกที่ "พ่อ" มอบให้ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือคนไทยทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป