กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
เนื่องจากพื้นที่ 6 หมู่บ้านในตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงและเป็นไหล่เขาที่มีความลาดชัน การปลูกข้าวไร่ไว้บริโภคถือเป็นสิ่งสำคัญของคนในชุมชน และเป็นการปลูกข้าวไร่ในพื้นที่รอบชุมชน แต่ปัจจุบันประสบปัญหาข้าวไม่เพียงพอ สาเหตุจากการใช้ที่ดินเปลี่ยนไป ในอดีตเป็นการปลูกข้าวระบบหมุนเวียน เพื่อให้ดินได้ฟื้นตัวเอง แต่เมื่อการเกิดขึ้นของไร่ข้าวโพด และพื้นที่ทำกินถูกจำกัด ทำให้พื้นที่ที่เคยมีอยู่น้อยลง ส่งผลต่อการปลูกข้าวจากระบบการหมุนเวียน 5-7 ปีถูกจำกัดเหลือ 1-2 ปี ทำให้พื้นที่ถูกใช้ซ้ำซาก ตามหลักวิชาการแล้วจะส่งผลทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังประสบปัญหาแมลงศัตรูพืช และหนู ที่สำคัญคือ ปัญหาเรื่องของเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่คุณภาพ ที่ผ่านมาไม่มีการคัดหรือเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ดีไว้ เกิดการปนสายพันธุ์ข้าว ทำให้ประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน
นายพิพัฒน์ สุยะ นักวิจัยและผู้ประสานงานศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พื้นที่จังหวัดน่าน กล่าวว่า จากที่ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2552 พบว่า พื้นที่ 6 หมู่บ้านในตำบลภูฟ้า มีการปลูกข้าวไร่อยู่ 335 ครัวเรือน หรือ 1,675 คน ผลิตข้าวได้ 339,797 กิโลกรัมหรือประมาณ 340 ตันต่อปี ขณะที่ความต้องการบริโภคอยู่ที่ 418,750 กิโลกรัมหรือประมาณ 420 ต้นต่อปี ยังขาดอยู่อีก 80ตัน เกิดวิกฤตทางอาหารต่อชุมชน เมื่อข้าวไม่เพียงพอต่อการบริโภค ชาวบ้านจึงต้องอพยพออกนอกพื้นที่ไปรับจ้างหารายได้เพื่อนำเงินมาซื้อข้าวเฉลี่ยครัวเรือนละ 2-3 พันบาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับชาวบ้านในพื้นที่สูง
จากโจทย์ปัญหาดังกล่าว นำมาสู่งานวิจัยเพื่อหาคำตอบให้กับชุมชนว่าทำอย่างไรให้มีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนภายใต้พื้นที่ที่ถูกจำกัด คำตอบที่ได้ คือ เรื่องการจัดการแปลง การเตรียมแปลงก่อนและหลังปลูก การดูแลรักษา และเรื่องคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่ไม่อุดมสมบูรณ์และต้านทานโรคได้ ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวให้บริสุทธิ์ถึงร้อยละ 98 (หากทำทั้ง 2 อย่างนี้ได้ดีจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวสูงขึ้นภายใต้พื้นที่ปลูกเท่าเดิม) จนในที่สุดได้ 'พันธุ์ข้าวเหนียวขาวภูฟ้า' ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมและให้ผลผลิตสูง จากนั้นมาสู่ขั้นตอนการขยายผลไปยังชุมชนเพื่อให้เกิดการกระจายการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่คุณภาพดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และเกิดการส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตโดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวขาวภูฟ้า โดยได้เริ่มดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชนในปี 2555 เป็นต้นมา
"โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้เกิดกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่คุณภาพจำนวน 20 ราย เกษตรกรมีพัฒนาการและสามารถถ่ายทอดต่อได้ เกิดการเรียนรู้จากการแลกเปลี่ยน และได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพเพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 138 – 290 กิโลกรัมต่อไร่จากเดิม 103 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้นจากการใช้เมล็ดพันข้าวคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็นครัวเรือนละ 265 กิโลกรัมต่อไร่ ลดภาวการณ์ขาดแคลนข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือนได้ 160 ตัน จึงสามารถสรุปได้ว่า ผลผลิตข้าวที่ได้จากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลผลิตข้าวจากเมล็ดพันธุ์ที่ชุมชนเก็บเอง ดังนั้น เพื่อให้การเพิ่มผลผลิตข้าวไร่ให้เพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี จำต้องเพิ่มผลผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพให้ได้ 8– 9 ตันต่อปี เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอีก 95 – 118 ตัน" นายพิพัฒน์กล่าวสรุป