กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--อิมแพคฯ
เผยความสามารถวิทย์ฯไทยรั้งอันดับ 49 จาก 50 ปท. เร่งสกัดจุดความสามารถด้านการจัดการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยตามหลังเพื่อนบ้าน "งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่อิมแพค" มุ่งแสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งใกล้ตัว เพื่อกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนไทยเร่งสนใจเรียนรู้ อธิบดีกรมส่งเสริมฯ ชี้ทุนเรียน-งานวิจัยยังมีอีกเพียบ เปิดโอกาสให้ไขว่คว้าเพื่อพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ไทย
นายชาตรี ช่วยประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า วิชาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งใกล้ตัว งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 18-26 ส.ค.นี้ที่ศูนย์นิทรรศการอิมแพค เมืองทองธานี จะช่วยตอกย้ำว่าวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานของวิชาความรู้ทุกประเภท วิทยาศาสตร์แทรกอยู่ในทุกสาขาวิชา ตัวอย่างเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันมีความสำคัญมากในชีวิตประจำวันก็เป็นวิทยาศาสตร์ งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ จะกระตุ้นให้เด็ก เยาวชนและประชาชนตระหนักว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ จะต้องศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีของโลก เป็นความรู้ที่จะนำกลับมาใช้พัฒนาประเทศ
นายชาตรีกล่าวว่าหน่วยงานของกระทรวงวิทย์ฯ หรือกรมส่งเสริมฯเองได้ให้การส่งเสริมการเรียนการสอน หรือกระตุ้นในเรื่องการสร้างความสำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์ เช่น การจัดสรรทุนซึ่งมีอยู่หลายร้อยทุน รวมทั้งการให้การส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน สนใจวิทยาศาสตร์ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ก็จะมีการแสดงเทคโนโลยี ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดี อยากมีส่วนร่วมในเรื่องของวิทยาศาสตร์
ทางด้านศ.ศักดา ศิริพันธุ์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน ของการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมและพัฒนาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ให้ยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ อย่างแรกต้องมีการพัฒนาบุคลากร พัฒนาการวิจัยต่างๆ และต้องปลุกสร้างจิตสำนึก ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
"แต่ปัจจุบันเรามีคนที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์น้อยครึ่งต่อครึ่ง เมื่อเทียบคนที่เรียนด้านสังคมศาสตร์ และความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย เราจัดอยู่อันดับ 49 จาก 50 ประเทศจากการจัดอันดับของสถาบัน IMB ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เรามีนักวิทยาศาสตร์เพียง 2-3 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน" ศ.ศักดากล่าวและว่า ทางด้านปริมาณเงินลงทุนในการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย มีเพียง 0.1% ของรายได้ประชาชาติ เมื่อเทียบประเทศที่พัฒนาแล้ว จะใช้เงินถึง 2-3% ของรายได้ประชาชาติ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาวิทยาศาสตร์ไทย ในส่วนของงานวิจัยต่างๆ จะต้องมีหลายหน่วยงานเข้ามารับผิดชอบงานวิจัยร่วมกัน รวมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญไม่แยกออกไปจากชีวิตประจำวัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คุณเรืองอุไร วรรณพัฒน์ 0-1696-3131--จบ--
-นห-