กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
ผลการศึกษาของอ็อกซ์ฟอร์ด บิสซิเนส กรุ๊ป (โอบีจี) บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยระดับโลกระบุว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสถานะจากประเทศผู้รับความช่วยเหลือเป็นประเทศผู้มอบความช่วยเหลือ พร้อมกับศึกษาว่าแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทยจะถูกต่อยอดหรือประยุกต์ใช้ในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ได้อย่างไร
โอบีจีระบุผลการศึกษาไว้ในรายงานพิเศษชื่อ "South-South in Action: Sustainability in Thailand – Experience for Developing Countries" ซึ่งได้รับการตีพิมพ์โดยกลุ่มความร่วมมือแบบใต้-ใต้ขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นโอเอสเอสซี (United Nations Office for South-South Cooperation - UNOSSC) และกระทรวงการต่างประเทศของไทย รายงานดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ต่อคณะผู้บริหารระดับสูง ผู้แทนรัฐบาล เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ หุ้นส่วน และสื่อมวลชนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก
ผู้เข้าร่วมรับฟังรายงานดังกล่าวได้แก่ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย จอร์เก เชดิเอ็ก ผู้แทนประจำเลขาธิการยูเอ็น กลุ่มความร่วมมือแบบใต้-ใต้ และผู้อำนวยการยูเอ็นโอเอสเอสซี อินยาง อีบอง-ฮาร์สทรัพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการยูเอ็นโอเอสเอสซี มาร์ติน การ์เซีย โมริทาน เอกอัคราชทูตและผู้แทนถาวรของอาร์เจนติน่าประจำสหประชาชาติ แอมริธ โรฮาน เปเรร่า เอกอัคราชทูตและผู้แทนถาวรของศรีลังกาประจำสหประชาชาติ และสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
รายงานฉบับนี้เป็นฉบับแรกของรายงานชุด "การดำเนินงานแบบใต้-ใต้" ตีพิมพ์โดยยูเอ็นโอเอสเอสซีในการศึกษาชิ้นนี้ มีการติดตามพัฒนาการสู่ความยั่งยืนแบบใต้-ใต้ของประเทศไทย และความร่วมมือแบบไตรภาคี โดยมีการรวบรวมรายละเอียดของความสำเร็จด้านนวัตกรรมที่ได้รับการดำเนินการในประเทศไทยและถูกนำไปใช้ในประเทศอื่น
มีการรวบรวมรายละเอียดอย่างเฉพาะเจาะจงถึงความมุ่งมั่นของประเทศที่มีต่อการส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการยกย่องว่ามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าเติบโตอย่างมั่นคงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และยังเป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ
โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศไทย และพลังขับเคลื่อนที่อาจถูกส่งต่อถึงประเทศซีกโลกใต้เป็นสิ่งที่โอบีจีให้ความสำคัญในงานวิจัยและการวิเคราะห์มาอย่างยาวนาน โดยรายงานที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2559 อธิบายประเด็นดังกล่าวตลอดหนึ่งบท ขณะที่บทวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องและการพัฒนาล่าสุดจะได้รับการตีพิมพ์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าในรายงาน "The Report: Thailand 2017"
พอลเลียส คุนซีนาส กรรมการผู้จัดการโอบีจี ประจำภูมิภาคเอเชียกล่าวว่า ท่ามกลางความสงสัยในประสิทธิภาพของความช่วยเหลือจากตะวันตกที่ส่งถึงประเทศกำลังพัฒนา จุดยืนของประเทศไทยในฐานะผู้นำแห่งทฤษฎีพัฒนาการที่ยาวนานได้แสดงให้เห็นแล้วว่าประเทศไทยยืนอยู่แถวหน้ามาโดยตลอด
"ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โลกกำลังพัฒนาได้หันหลังให้กับโมเดลเศรษฐกิจแบบตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากให้ความสำคัญกับดัชนีด้านการเงินมากเกินไปและไม่พิจารณาปัจจัยด้านประชากร แผ่นดิน ผืนน้ำ สุขภาพ และวัฒนธรรมทำให้สวนทางกับผลประโยชน์ของสังคมในระยะยาว" คันซีนาสกล่าว "ประเทศไทยตระหนักตั้งแต่แรกเริ่มว่าการจัดระเบียบโครงสร้างด้วยวิธีการอื่นที่ดีกว่านั้นอาจมีอยู่ และเป็นผู้นำการผลักดันโมเดลที่ผสมผสานปัจจัยดังกล่าวเข้าไว้ด้วยกัน โลกทั้งใบกำลังเดินตามประเทศไทย"
รายงาน The Report: Thailand 2017 จะเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนประเทศหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจมหภาค โครงสร้างพื้นฐาน การธนาคาร และการพัฒนาภาคส่วนอื่นๆ โดยรายงานดังกล่าวจะมีทั้งฉบับตีพิมพ์และออนไลน์