จุฬาฯ ขอเชิญชมนิทรรศการทรัพยากรไทย: อนุรักษ์และพัฒนา ด้วยจิตสำนึกแห่งนักวิจัยไทย (โครงการ)

ข่าวทั่วไป Tuesday June 12, 2001 11:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--จุฬา
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ
ทรัพยากรไทย : อนุรักษ์และพัฒนา ด้วยจิตสำนึกแห่งนักวิจัยไทย
หลักการและเหตุผล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชมาเป็นเวลานานก่อนที่คำว่าความหลากหลาย
ทางชีวภาพ (biological diversity) และการอนุรักษ์ (conservation) จะเป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย จากการเสด็จ
แปรพระราชฐานไปประทับ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในปี พ.ศ.2503 เมื่อเสด็จผ่านอำเภอท่ายาง
จังหวัดเพชรบุรี ทอดพระเนตรเห็นต้นยางนาขนาดใหญ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทรงมีพระราชดำริที่จะสงวนป่ายางนานี้ไว้ด้วยพระราชทรัพย์
ส่วนพระองค์ แต่มีราษฎรเข้ามาทำไร่และสวนในบริเวณดังกล่าว จึงทำให้ไม่สามารถจัดถวายได้ตามพระราชประสงค์ จึงทรงพระราชทาน
ให้เก็บเมล็ดยางนาไปเพาะที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน แล้วได้นำต้นยางนาที่เพาะได้ นำมาปลูกในสวนจิตรลดา
ในวันประสูติของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ที่ 28 กรกฎาคม 2504 จำนวน 1250 ต้น และทรงมีพระราชดำริ
ให้นำพรรณไม้จากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ มาปลูกไว้ในสวนจิตรลดาเพื่อเป็นแหล่งศึกษา ในปี 2528 ทรงมีพระราชดำริให้ทำการอนุรักษ์
ต้นขนุนให้พระบรมมหาราชวัง ซึ่งได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พรรณไม้ในพระราชวังต่างๆ โดยการเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต่อมาในปี 2529
พระราชทานพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์และขยายพันธุ์หวาย รวมทั้งดำเนินการจัดสร้างสวนพืชสมุนไพรในโครงการส่วนพระองค์ฯ
สวนจิตรลดา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสืบต่องานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยทรงมีพระราชดำริกับท่านเลขาธิการ
พระราชวัง ให้มีการดำเนินการอนุรักษ์พืชพรรณของประเทศ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2535 ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริฯ จัดสร้างธนาคารพืชพรรณสำหรับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษาโดยการเลี้ยงเนื้อเยื่อ รวมทั้งการศึกษาด้านชีวโมเลกุล
ในปี พ.ศ.2536 ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในการอนุรักษ์พืชพรรณไม้เก่า เช่น ทุเรียนที่จังหวัดนนทบุรี
พระราชทานแนวทางการอนุรักษ์พันธุ์พืชที่มิใช่พืชเศรษฐกิจ ให้มีการอนุรักษ์พืชพรรณไม้ตามเกาะเนื่องจากมีผู้สนใจน้อย แนวทางในการ
สร้างจิตสำนึกในเยาวชนที่ให้เห็นความงดงาม ความน่าสนใจ ที่จะอนุรักษ์พืชพรรณต่อไปโดยไม่ให้เกิดความเครียด การจัดทำข้อมูลที่เป็น
ภาพสีเพื่อสะดวกในการอ้างอิงค้นคว้า รวมทั้งพระราโชวาทในการประชุมประจำปีในวันที่ 14 สิงหาคม 2540 ที่ให้หน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมกัน
ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน ทรงเน้นการสอนให้เด็กเกิดความรักหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติการนำเอา
ธรรมชาติมาเป็นสื่อการเรียนการสอน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ใช่เพียงการปลูกป่าปลูกต้นไม้เท่านั้น ทรงให้เรียนรู้ในเรื่อง
พืชพรรณไม้ที่มีอยู่รอบตัว รวมทั้งการดำเนินงานให้คำนึงถึงเรื่องของกฎหมายและสิทธิต่างๆ รวมทั้งมาตรฐานของงาน ที่มิใช่ดำเนินงาน
ในประเทศเท่านั้น ต้องติดต่อกับต่างประเทศเพื่อให้เกิดการยอมรับ เป็นการสร้างความเจริญให้ประเทศ การดำเนินกิจกรรมของโครงการฯ
ในการปกปักพันธุกรรมพืชสำรวจเก็บราบรวม ปลูกรักษา อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ ศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช วางแผนพัฒนาพันธุ์พืช สร้างจิตสำนึก
ในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยนำพระราชดำริพระราโชวาท มาเป็นกรอบในการดำเนินงาน
จากพระราชกระแสที่ให้ดำเนินการสำรวจทรัพยากรบนเกาะแสมสาร เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 โดยให้ดำเนินการตั้งแต่
ยอดเขาจนถึงใต้ทะเล อันเนื่องจากพระราชกระแสรับสั่งนี้จึงทำให้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มีความสัมพันธ์
กับทรัพยากรกายภาพและทรัพยากรชีวภาพต่างๆ ที่หลายหลาก มีการศึกษาสำรวจ อนุรักษ์และพัฒนา เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่มหาชนชาวไทย
ขณะนี้กิจกรรมของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ได้ดำเนินการอยู่ในช่วงของ 5 ปีที่สอง (1 มิถุนายน 2540 -
31 พฤษภาคม 2545) และมีการจัดประชุม "สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน" ระดับประเทศ ไปแล้ว ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัย
เกษตรศาสตร์ ระหว่างวันที่ 12-14 ตุลาคม 2543 สืบเนื่องจากที่มีหน่วยราชการ มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาจำนวนมาก ได้เข้ามา
สนองพระราชดำริเข้าร่วมดำเนินการ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จึงเห็นควรให้มีการแสดงนิทรรศการ
และประชุมวิชาการ "ทรัพยากรไทย : อนุรักษ์และพัฒนา ด้วยจิตสำนึกแห่งนักวิจัยไทย" เพื่อนำเสนอผลงานของคณะปฏิบัติงานวิทยากรกลุ่มต่างๆ
ให้ได้รับทราบการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ร่วมกันหาแนวทางในการอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรไทย ให้คงอยู่และเกิดประโยชน์
แก่มหาชนไทยต่อไป และเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองการสถาปนามหาวิทยาลัยครบ 84 ปี ใน พ.ศ.2544 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จึงเข้าร่วมสนองพระราชดำริพร้อมกับหน่วยงาน มหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ จัดแสดงนิทรรศการและประชุมวิชาการดังกล่าว
ณ ศาลาพระเกี้ยว และห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน ศกนี้
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากร
ของประเทศ
2. เพื่อเผยแพร่ผลการปฏิบัติงานของคณะปฏิบัติงานวิทยาการจาก หน่วยงาน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่างๆ
ที่ร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
3. เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินงานในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ได้นำเสนอผลงาน รับทราบการดำเนินงาน
ซึ่งกันและกัน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ความคิดเห็น
4. เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือแนวทางที่จะร่วมกันสนองพระราชดำริ ในการให้เกิดเครือข่ายที่ถาวรเพื่อการอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากร
ให้เกิดประโยชน์แก่มหาชนชาวไทยต่อไป
การแสดงนิทรรศการ ณ ศาลาพระเกี้ยว ชั้นล่าง
นิทรรศการแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรไทย การเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการพัฒนาทำให้เกิดการเสียสมดุลทางธรรมชาติ
การแก้ไขให้ทรัพยากรฟื้นคืนสภาพ การสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปเกิดความรัก หวงแหน ร่วมกันรักษาทรัพยากรของประเทศ
และการพัฒนาทรัพยากรเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมหาชนชาวไทยต่อไป ในหัวข้อ "ทรัพย์สยามมากมี พื้นปฐพีมีค่าอนันต์ ของขวัญจากผืนน้ำ
ฟากฟ้าทะเลไทย สมดุลที่ขาดหาย แก้ไขคืนชีวิต และร่วมสร้างจิตสำนึก" อันประกอบด้วยนิทรรศการเกี่ยวกับปัจจุบัน อนาคตและการจัดการ
ในพื้นที่การศึกษาดังต่อไปนี้
1. ทรัพย์สยามมากมี แสดงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร จากผืนป่าสู่พันธุกรรมพืช ณ พื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
เขาวังเขมร อำเภอไทยโยค จังหวัดกาญจนบุรี
2. พื้นปฐพีมีค่าอนันต์ แสดงความหลากหลายทางชีวภาพ ณ พื้นที่เขาเขียว เขาชมพู่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว อำเภอศรีราชา
จังหวัดชลบุรี ที่มีลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ถูกล้อมรอบด้วยเมืองและภูกตัดขาดออกจากป่าผืนเดิมเนื่องจากการเจริญของเมืองเข้ามาล้อมรอบ
3. ของขวัญจากผืนน้ำ แสดงความหลากหลายทางชีวภาพบนพื้นที่เกาะต่างๆ ในทะเล อ่างไทย ณ พื้นที่บริเวณเกาะกูด
เกาะคราม เกาะริ้น เกาะไผ่ ฯลฯ
4. ฟากฟ้าทะเลไทย แสดงความหลากหลายทางชีวภาพบนเกาะ ในผืนน้ำ และฟากฟ้าทะเลไทย ที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์
แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
4.1 ทรัพยากรบนเกาะในทะเลฝั่งอันดามัน และทะเลไทยตอนใต้ ณ เกาะบอน เกาะตาชัย เกาะกระ
4.2 นำเสนอทรัพยากรบนหมู่เกาะแสมสาร
5. สมดุลที่ขาดหาย แสดงทรัพยากรบนหมู่เกาะแสมสาร เกาะในน่านน้ำทะเลอ่าวไทย และอันดามันที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์
ในการท่องเที่ยว และการที่ทรัพยากรใต้น้ำถูกรบกวนจากผลของการท่องเที่ยว กับการนำเสนอเป้าหมายในการแก้ไขเพื่อฟ้นคืนสภาพ
และการสร้างจิตสำนึกในการที่จะสร้างเกาะแสมสารให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติในอนาคต
6. แก้ไขคืนชีวิต นำเสนอผืนป่าที่ถูกทำลาย และวิธีการแก้ไขให้ฟื้นคืนสภาพ จากทฤษฎีการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากการศึกษา ณ พื้นที่โครงการสร้างป่า
ตามแนวพระราชดำริและป่าพันธุกรรมพืช อุทยานแห่งชาติทับลาน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
7. ร่วมสร้างจิตสำนึก แสดงทรัพยากรที่ถูกเก็บรักษาและการสร้างจิตสำนึก จากกาศึกษา ณ พื้นที่ป่าในเมืองในพื้นที่
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช บ้านหนองระเวียง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้นำมาใช้ในงานสร้างจิตสำนึก ค่ายเยาวชน
และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ กับงานอนุรักษ์
การแสดงนิทรรศการ ณ ศาลาพระเกี้ยวชั้นบน ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 การแสดงนิทรรศการของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ส่วนที่ 2 จัดแสดงผลงานการศึกษาของหน่ายงานต่างๆ ที่ร่วมสนองพระราชดำริ ในงานกิจกรรมหลักของโครงการ 8 กิจกรรม ดังนี้
2.1 กิจกรรมปกปักพันธุกรรมพืชมิให้สูญสิ้นไป
2.2 กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช
2.3 กิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช
2.4 กิจกรรมอนุรักษืและใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช
2.5 กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช
2.6 กิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช
2.7 กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
2.8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
ส่วนที่ 3 แสดงนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรคล้ายคลึงกับโครงการอนุรักษ์
พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ แต่ยังมิได้เข้ามาร่วมดำเนินงานในลักษณะของการวางแผนร่วมกันได้แก่ กระทรวงเกษตร
และสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ฯลฯ
กิจกรรมบริเวณโถงกลาง ศาลาพระเกี้ยวชั้นล่าง มีดังนี้
วันพฤหัสที่ 21 มิ.ย.2544 เวลา 09.00-12.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทำพิธี
เปิดการแสดงนิทรรศการและเยี่ยมชมการแสดงนิทรรศการ
การบรรเลงโดยวงดุริยางค์ราชนาวี (วงเล็ก)
วันศุกร์ที่ 23 มิ.ย.2544 เวลา 10.00-12.00 น. กิจกรรมโดยหน่วยงานป่าไม้
เวลา 14.00-16.00 น. กิจกรรมโดยหน่ายงานกองทัพเรือ
วันเสาร์ที่ 23 มิ.ย.2544 เวลา 10.00-12.00 น. กิจกรรมการใช้ประโยชน์จากวัสดุธรรมชาติโดยสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลฯ
วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เวลา 14.00-16.00 น. การแสดงกิจกรรมโดยชมรมวาดภาพทางวิทยาศาสตร์
วันอาทิตย์ที่ 24 มิ.ย.2544 เวลา 10.00-12.00 น. การแสดงกิจกรรมโดยชมรมนักชีววิทยา อพ.สธ.
เวลา 14.00-16.00 น. การแสดงกิจกรรมความสามารถของสัตว์ โดยสวนสัตว์เปิดเขาเขียว
อนึ่ง ในวันศุกร์ที่ 22 มิ.ย.2544 เวลา 17.00-18.00 น. มีการบรรเลงโดยวงดุริยางค์ราชนาวีวงใหญ่ ณ บริเวณ
ลานด้านข้างศาลาพระเกี้ยว ฝั่งตะวันตก (ด้านคณะเศรษฐศาสตร์ และ คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี)
กำหนดการ การประชุมวิชาการ ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันพฤหัสที่ 21 มิ.ย.2544
เวลา 13.30-14.00 น. เปิดการประชุม
เวลา 14.00-16.30 น. การอภิปราย "โอกาสในการเข้าร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ"
ผู้ร่วมการอภิปรายประกอบด้วย
เลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ ผู้อำนวยการ สวทช.ผู้อำนวยการ สกว
ประธานคณะกรรมการบริหารโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและ
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
วันศุกร์ที่ 22 มิ.ย.2544
เวลา 09.00-16.30 น. การบรรยายกิจกรรมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
และการเปิดอภิปราย ในหัวข้อ
"ทรัพยากรกับความหลากหลาย การอนุรักษ์และพัฒนา"
ผู้บรรยายและผู้อภิปรายประกอบด้วย
คณะผู้ปฏิบัติงานวิทยาการที่ทำการศึกษาในสิ่งที่มีชีวิตกลุ่มต่างๆ
การบรรยายประกอบด้วยสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว สิ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการ
การแสดงความคิดเห็น จากหน่วยงานอื่นๆ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ
แนวคิด และความร่วมมือ และศักยภาพความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
วันเสาร์ที่ 23 มิ.ย.2544 การอภิปรายจิตสำนึกแห่งนักวิจัยไทย และการประชุมระดมความคิด
เวลา 09.00-12.00 น. การอภิปรายจิตสำนึกแห่งนักวิจัยไทย
ผู้อภิปรายประกอบด้วย
ดร.ทนงศักดิ์ มณีวรรณ ศาสตราจารย์ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้
และ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
เวลา 13.00-15.30 น. การประชุมระดมความคิด และการมีส่วนร่วมในการสนองพระราชดำริ
ของนักวิทยาศาสตร์และองค์กรต่างๆ
เวลา 15.30-16.00 น. ปิดการประชุม
ผู้รับผิดชอบในการจัดนิทรรศการและการประชุมวิชาการ
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานอื่นๆ ที่ร่วมสนองพระราชดำริ
ผู้สนใจขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ผศ.ผุสตี ปริยานนท์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 218-5372
ผศ.ดร.มาลินี ฉัตรมงคลกุล ภาควิชาชีพวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร.218-5265
ผศ.ดร.อรวรรณ สัตยาลัย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร.218-5381
อ.ดร.จุฑาพันธุ์ พิณสวัสดิ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร.218-5265
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สวนจิตรลดา โทร. 282-1850, 282-0665--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ