กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--ดับเบิ้ล ดี มีเดีย
เมื่อเร็วๆ นี้ นางกรรณิการ์ แสงทอง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, นางจิรภา สินธุนาวา ผู้อำนวยการสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายด้านยาเสพติดของภาครัฐ อาทิ นายจิตรนรา นวรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด สำนักงานอัยการสูงสุด, นายกำจัด พ่วงสวัสดิ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ และที่ปรึกษาโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, ดร. นพ. บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ได้นำคณะสื่อมวลชนร่วมโครงการศึกษาดูงานการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 ที่โรงแรมเซ็นทารา อุดรธานี และเรือนจำกลางอุดรธานี หลังจากที่มีการประกาศใช้ พรบ.ดังกล่าว เมื่อกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2560
โดยการแก้ไขปรับปรุง พรบ. ยาเสพติดให้โทษฉบับนี้ มีหลักการสำคัญที่เป็นคุณแก่ผู้ต้องขัง เพื่อให้มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้น เช่น เปลี่ยนแปลงโทษสำหรับความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออก ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เช่น ยาบ้า จำนวนน้อยกว่า 15 เม็ด ที่ไม่ใช่ข้อหาจำหน่าย จากเดิมกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิต เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ถึงจำคุกตลอดชีวิต และมีบทบัญญัติช่วยเหลือผู้ที่กำลังรับโทษจำคุกอยู่ ให้สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อกำหนดโทษใหม่ได้ และให้มีผลย้อนหลังได้ หรือหากคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ก็เปิดโอกาสให้จำเลยสามารถนำพยานหลักฐานนำสืบหักล้างข้อกล่าวหาได้ จากเดิมที่ไม่ให้มีการนำสืบพยาน เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายด้านยาเสพติดได้ร่วมกันเตรียมแนวทางต่างๆ ในการช่วยเหลือดูแลผู้ต้องขังที่พ้นโทษให้กลับไปมีโอกาสใช้ชีวิตอย่างปกติ เป็นคนดีของสังคมได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมากระทำความผิดและต้องโทษซ้ำอีก ตามพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ
ดร. นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า "สสส. จะร่วมมือกับภาครัฐ และเชิญชวนภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมสานพลังในการจัดกระบวนการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ภายใต้หลักคิด "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ตามศาสตร์พระราชา เช่น การดูแลบำบัดรักษา โดยประสานกับศูนย์วิชาการสารเสพติด และศูนย์วิจัยด้านสารเสพติด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดระบบบำบัดเยียวยาที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาความเข้มแข็งทางจิตใจภายใต้แรงกดดัน หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม การจัดกิจกรรมจิตอาสาในชุมชน ตลอดจนกระบวนการด้านพัฒนาทักษะวิชาชีพ การจัดหางานรองรับ เพื่อต่อเติมความหวัง และสร้างกำลังใจในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีต่อไป"
นช.ปิยะ หนึ่งในผู้ต้องขังชายที่ปฏิบัติตนดีจนได้รับโอกาสเป็นผู้ช่วยงานเจ้าพนักงานเรือนจำ กล่าวถึง พรบ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) ว่า รู้สึกดีใจที่ตนเองจะได้มีโอกาสยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อกำหนดโทษใหม่ โดยครั้งที่ต้องคดีนั้น ตนเป็นคนไทยที่มีภรรยาเป็นคนฝั่งลาว ยอมรับว่าเสพยาบ้าบ้างเพื่อให้มีพละกำลังในการทำไร่ทำสวนได้มากขึ้น วันเกิดเหตุเพื่อนยืมไฟแช็คไปจุดบุหรี่แต่ตอนคืนกลับมามียาบ้าครึ่งเม็ดติดมาบนไฟแช็คก็ไม่ได้คิดอะไร เอาไฟแช็คใส่ซองบุหรี่และใส่กระเป๋ากางเกง บังเอิญวันนั้นแม่ยายไม่สบายหนักต้องพาข้ามเรือมาหาหมอที่ฝั่งไทย จึงถูกจับในข้อหานำยาเสพติดข้ามแดน (นำเข้ามาในราชอาณาจักร) โทษจำคุกตลอดชีวิต สารภาพลดเหลือ 30 ปี ตอนนี้รับโทษมาแล้ว 8 ปี เข้ามาตั้งแต่อายุ 25 ปี ผมมีลูกสองคนตอนนี้อายุ 8 กับ 9 ขวบ ผมสงสารครอบครัวเพราะภาระตกอยู่ที่ภรรยาต้องหาเลี้ยงลูกคนเดียวลำบากมาก ไม่คิดว่ายาบ้าครึ่งเม็ดจะทำให้ผมได้รับโทษหนักขนาดนี้ หากมีโอกาสพ้นโทษออกไปคงไม่กลับไปหามันอีกแล้ว
นางกรรณิการ์ แสงทอง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวในตอนท้ายว่า ทางกระทรวงยุติธรรมจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ต้องขังในเรือนจำได้รับทราบถึงสิทธิที่ได้รับคุณประโยชน์จาก พรบ.เสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) และจะอำนวยความสะดวกในการเขียนคำร้อง รวมทั้งทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาทนายความ เพื่อช่วยเหลือจำเลยอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือแจ้งศาลทั่วประเทศให้ทราบแล้ว อย่างไรก็ตาม กระทรวงยุติธรรมจะสร้างกลไกในการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังในการแก้ไขฟื้นฟูการสงเคราะห์ช่วยเหลือเรื่องอาชีพ การปรับตัวเข้าสู่สังคมเพื่อไม่ให้ผู้ต้องขังหวนกลับไปทำความผิดซ้ำ ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงชุมชนด้วยต่อไป