กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบูรณาการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างเข้มข้น มุ่งขับเคลื่อนการทำงานและกำหนดมาตรการป้องกันให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทยและทีมประชารัฐตำบลพร้อมแบ่งมอบหน่วยงานรับผิดชอบ พื้นที่ปฏิบัติการป้องกันและควบคุมไฟป่าอย่างชัดเจน แยกเป็น พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชน หมู่บ้าน และพื้นที่ริมทาง คุมเข้มลดการเผาในพื้นที่อย่างจริงจังตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 60 เป็นต้นไป โดยใช้วิธีไถกลบเศษวัสดุทางการเกษตรแทนการเผา หรือใช้สารอินทรีย์ย่อยสลายตอซัง ควบคู่กับการจัดทำข้อตกลงของชุมชนประกาศเขตห้ามเผา อีกทั้งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนร่วมเฝ้าระวัง ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการ "ควบคุมปัญหาไฟป่า" และ "วิกฤตหมอกควันเป็นศูนย์"
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บางพื้นที่ของภาคเหนือได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันปกคลุม และมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันเชิงรุกอย่างเข้มข้น ด้วยการจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัด และอำเภอ พร้อมแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือปลัดจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบในการประสานแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการติดตามสภาพอากาศ การประเมินสถานการณ์หมอกควัน และการคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนตัวของหมอกควัน การแบ่งมอบพื้นที่ปฏิบัติการป้องกันและควบคุมไฟป่าเป็น 3 เขต ดังนี้ พื้นที่ป่าไม้ มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก หน่วยทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยงานอื่นๆ เป็นหน่วยสนับสนุน พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนและหมู่บ้าน ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานรับผิดชอบภายใต้แผนปฏิบัติการจังหวัด / อำเภอ พื้นที่ริมทางหรือถนนสายต่างๆให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการกำหนดแผนปฏิบัติการ โดยมีฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชน เป็นหน่วยสนับสนุน ในช่วงที่เกิดวิกฤตไฟป่าและหมอกควัน ให้กองอำนวยการฯ ประชุมติดตามสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายอีกทั้งใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยและทีมประชารัฐตำบลขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2560 ให้จังหวัดพิจารณาดำเนินมาตรการให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ ดังนี้ การควบคุมและลดการเผา โดยรณรงค์ให้เกษตรกรใช้วิธีไถกลบเศษวัสดุทางการเกษตรแทนการเผา หรือใช้สารอินทรีย์ย่อยสลายตอซังรวมถึงจัดทำข้อตกลงของชุมชนประกาศเขตห้ามเผาในพื้นที่หมู่บ้านหรือพื้นที่บุกรุกทำไร่เลื่อนลอยอีกทั้งจัดชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังและระงับเหตุไฟป่า พร้อมระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครภาคประชาชนจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่เสี่ยงอีกทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายหมู่บ้าน รถกระจายเสียง วิทยุและโทรทัศน์ชุมชนถึงผลกระทบจากปัญหาไฟป่าหมอกควันพร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาบริเวณริมทาง และในเขตชุมชนสำหรับจังหวัดที่มีสนามบินพาณิชย์ให้ประสานงานกับศูนย์ควบคุมการบินเพื่อแจ้งสถานการณ์หมอกควันและวางแผนรองรับกรณีหมอกควันส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยทางอากาศกรณีเกิดวิกฤตหมอกควันให้ระงับการดำเนินมาตรการชิงเผาแจกจ่ายหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการปฏิบัติตนในช่วงเกิดสถานการณ์หมอกควันระดมวัสดุอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองหมอกควันในอากาศ นอกจากนี้ ให้จังหวัดกำหนดมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน อาทิ การทำสารชีวมวล การทำอาหารสัตว์จากวัสดุการเกษตรการประสานภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่มีโครงการช่วยเหลือสังคม (CSR) สนับสนุนการส่งเสริมองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีลดการเผาวัสดุทางการเกษตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการ "ควบคุมปัญหาไฟป่า" และ"วิกฤตหมอกควันเป็นศูนย์"ซึ่งถือเป็นแนวทางหนึ่งในการร่วมสร้างประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand)