กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 65 จังหวัดเสี่ยงภัย เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่าหมอกควันอย่างเข้มข้น โดยจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และอำเภอ เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ พร้อมแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการและมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่อย่างชัดเจน ทั้งพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวน พื้นที่การเกษตรและชุมชน และพื้นที่ริมทาง รวมถึงประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจ ในมาตรการคุมเข้มการเผา เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาไฟป่าหมอกควัน กรณีเกิดวิกฤตหมอกควันเกินค่ามาตรฐาน ให้แจกจ่ายหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการปฏิบัติตนในช่วงเกิดสถานการณ์หมอกควัน พร้อมระดมวัสดุอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำ เพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองหมอกควันในอากาศ ตลอดจนส่งเสริมการนำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีมาใช้ในการลดการเผาวัสดุทางการเกษตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการ "ควบคุมปัญหาไฟป่า" และ "วิกฤตหมอกควันเป็นศูนย์"
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บางจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันปกคลุม และมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการ 65 จังหวัดเสี่ยงภัย เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันเชิงรุกอย่างเข้มข้น โดยจัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และอำเภอ เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ พร้อมแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือปลัดจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบในการบูรณาการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกด้าน พร้อมแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการและมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบใน 3 พื้นที่ ดังนี้ พื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวน มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก หน่วยทหาร ตำรวจ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยสนับสนุนในการดำเนินการจัดทำแนวป้องกันไฟ จัดกำลังพลลาดตระเวนเฝ้าระวังและระงับเหตุไฟป่า กำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงบริเวณพื้นที่ป่า ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พื้นที่การเกษตรและชุมชน มอบหมายให้ที่ทำการปกครองและสำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักในการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ของจังหวัด/อำภอ ภายใต้กลไกของกระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในระดับพื้นที่ พื้นที่ริมทาง มอบหมายแขวงการทาง และแขวงทางหลวงชนบทในพื้นที่ เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยสนับสนุน โดยเฝ้าระวังไม่ให้มีการเผาและกำจัดเศษวัสดุ ใบไม้แห้งในพื้นที่ริมทาง สำหรับมาตรการควบคุมในช่วงวิกฤต ให้จังหวัดพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในพื้นที่ โดยเฉพาะมาตรการเร่งด่วน ให้ใช้วิธีการไถกลบแทนการเผา การใช้สารอินทรีย์ย่อยสลายตอซังข้าว ข้าวโพด หรือเศษวัสดุทางการเกษตร ประกาศเขตห้ามเผาอย่างเด็ดขาด พร้อมระดมอาสาสมัครจัดทำแนวกันไฟ เฝ้าระวังและระงับเหตุไฟป่า รวมถึงประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจในมาตรการคุมเข้มการเผา เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาไฟป่าหมอกควัน พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาบริเวณริมทาง และในเขตชุมชน สำหรับจังหวัดที่มีสนามบินพาณิชย์ให้ประสานงานกับศูนย์ควบคุมการบินอย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งสถานการณ์หมอกควัน และวางแผนรองรับกรณีหมอกควันส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัยทางอากาศ กรณีเกิดวิกฤตหมอกควันเกินค่ามาตรฐาน ให้จังหวัดประสานหน่วยงานสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจกจ่ายหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำการปฏิบัติตนในช่วงเกิดสถานการณ์หมอกควัน ระดมวัสดุอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองหมอกควันในอากาศ นอกจากนี้ ให้จังหวัดกำหนดมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน อาทิ การทำสารชีวมวล การทำอาหารสัตว์จากวัสดุการเกษตร การประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO)ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่มีโครงการช่วยเหลือสังคม (CSR) สนับสนุนการส่งเสริมการนำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีมาใช้ในการลดการเผาวัสดุทางการเกษตร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการ "ควบคุมปัญหาไฟป่า" และ "วิกฤตหมอกควันเป็นศูนย์"