กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ.ผนึกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดประชุมการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ "การแพทย์ฉุกเฉินดิจิตอลสู่การพัฒนานครอัจฉริยะ" ขณะที่ อบจ.สงขลา ชูต้นแบบการพัฒนาการแผนฉุกเฉินในพื้นที่ด้วยการดึงระบบดิจิตอลช่วยเสริม ด้านสปช.ระบุเตรียมผลักดันศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ โดยดึงหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วมมือเพื่อให้ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่โรงแรมตักศิลา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคามร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดการประชุมการแพทย์ฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ"การแพทย์ฉุกเฉินดิจิตอลสู่การพัฒนานครอัจฉริยะ" (Digital EMS toward Smart City Development)
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้จะได้พบกับนวัตกรรมใหม่ๆของเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศยุคดิจิตอลที่เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินหลากหลายมิติหลากหลายโครงการจำนวนมาก โดยเนื้อหาของการประชุมจะมุ่งเน้นในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินโดยการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นตัวช่วยให้เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง ทั่วถึง และรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการลดการเสียชีวิต ความพิการ และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก
ทั้งนี้ภายในงานได้มีการอภิปรายเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับงานการแพทย์ฉุกเฉินดิจิตอลสู่การพัฒนานครอัจฉริยะ โดย พล.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เราคงทราบดีว่าการเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นความทุกข์และความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นได้ในทุกเวลาและนำความเสียหายมาให้แก่ประเทศชาติเป็นอย่างมาก โดยเราได้มีการเก็บรวบรวมสถิติพบว่า สาเหตุของการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 65% เป็นการเจ็บป่วยจากโรคทั่วไปและอีก 35 เปอร์เซ็นต์เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุจราจร เมื่อรวมกันแล้วจะมีผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งโรคทั่วไปและจากอุบัติเหตุ เข้าโรงพยาบาลมากถึง 300คนต่อวัน และในจำนวนนี้มีผู้ป่วยฉุกเฉินถึง 15 คนที่ต้องกลายเป็นคนพิการและทุพลภาพซึ่งจะสร้างความสูญเสียทางด้านวิกฤตเศรษฐกิจกับประเทศไทยถึง 5 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นเราควรหาวิธีในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุให้ได้เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพรวดเร็วและทันเวลาซึ่งจะลดอันตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้ป่วยฉุกเฉินได้
สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวต่อว่า ดังนั้น สปช.จึงได้เสนอเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรีให้มีการปฏิรูประบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยในสามเรื่องหลักๆ คือเรื่องที่หนึ่งการป้องก้นความสับสนในการใช้งานสายด่วนต่าง ๆ เราเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลขเดียวที่เป็นสากลที่สำหรับคนไทยและคนต่างชาติรวมทั้งประชาชน ผู้พิการโดยจะต้องมีระบบที่รองรับการแจ้งเหตุทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยด้วยระบบที่มีประสิทธิภาพบอกตำแหน่งหรือพิกัดบอกข้อมูลบุคคลและบอกข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยได้ ซึ่งตนเชื่อว่าในปัจจุบันที่เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสารที่มีก้าวหน้าจะสามารถทำให้เราดำเนินการในเรื่องนี้ได้ และเรื่องที่สอง ทำให้ประชาชนเข้าใจและเรียนรู้เรื่องของการเจ็บป่วยฉุกเฉินและสามารถแจ้งเหตุได้อย่างถูกต้อง และสามารถช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) หรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้คือการเริ่มต้นที่โรงเรียน ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเรียนการสอนวิชาเหล่านี้เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจและชำนาญในเรื่องต่างๆ เหล่านี้จนสามารถที่จะปฏิบัติได้จริงและสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อตนเองหรือช่วยเหลือผู้อื่นได้เมื่อประสบเหตุการณ์ในระหว่างที่รอทีมกู้ชีพเข้ามาถึงได้ และส่วนที่สาม แนวทางในการแก้ไขประเด็นการใช้งานและการปฏิบัติการช่วยเหลือฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุนั้น เสนอให้มีศูนย์สั่งการของจังหวัดที่มีประสิทธิภาพ มีเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหมดรวมทั้งบุคลากร และจัดให้มีรถพยาบาลระดับสูงพร้อมทีมกู้ชีพระดับสูงกระจายจุดจอดครอบคลุมพื้นที่สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังได้เสนอขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ โดยมีหลากหลายหน่วยงานเข้ามารวมตัวกันอยู่ในศูนย์นี้เพื่อให้ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การที่จะลดช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทได้นั้น จะต้องทำให้คนไทยเข้าถึงปัจจัย 4 ให้ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการรักษา การเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นคนชนชั้นไหนก็ควรได้รับการให้บริการและการดูแลรักษาอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นหากเราทำให้ประชาชนทุกจังหวัดทุกที่เข้าถึงระบบสาธารณสุขพื้นฐานซึ่งเรียกว่าระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อช่วยชีวิต เพื่อลดความพิการหรือลดความสูญเสียของร่างกายและชีวิตก็จะสามารถลดช่องว่างตรงส่วนนี้ได้ โดยหน่วยงานที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินไม่ใช่ใครอื่นไกลก็คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเอง ซึ่งที่จังหวัดสงขลาทำเรื่องนี้กันมาอย่างยาวนาว โดยในช่วงแรกๆ ที่ดำเนินการนั้นหลายท้องถิ่นมีความเป็นกังวลในเรื่องของกฏหมายที่ไม่เอื้อให้ต่อการดำเนินงานเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ ซึ่งในพื้นสามารถทำได้เพราะมีพระราชบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พระราชบัญญัติเทศบาล ซึ่งในพระราชบัญญัติการกระจายอำนาจ และในระเบียบหรือประกาศของกระทรวงมหาดไทยก็ให้อำนาจหน้าที่ท้องถิ่นบริหารจัดการในเรื่องนี้ได้ ซึ่งหากท้องถิ่นศึกษากฏหมายเหล่านี้อย่างจริงจัง จะเห็นช่องทางของกฏหมายที่เปิดช่องให้ทำได้ ซึ่งในส่วนของสงขลานั้น เมื่อศึกษาข้อกฏหมายอย่างจริงจัง และออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริการไม่ว่าชุดไหนที่เข้ามาก็จะต้องทำเรื่องนี้ได้ สานต่องานกันได้เมื่อข้อฏหมายชัดเจนแล้วเราก็ได้ลุยและดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยวางระบบCCTV รอบเมืองสงขลาและในหลายพื้นที่ในจังหวัดสงขลารวมถึงมีการเชื่อมโยงการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเหตุฉุกเฉินเข้าไว้ด้วยกัน และมีศูนย์ปฏิบัติอยู่ที่เดียวที่ทำงานด้วยกัน เมื่อเกิดเหตุทุกหน่วยงานก็พร้อมที่จะออกไปช่วยเหลือประชาชน โดยจังหวัดสงขลา 127 ตำบล และทุกตำบลมีรถของมูลนิธิกู้ชีพอยู่ทุกที่ พร้อมประสานทุกระบบในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ได้
ด้านนางไอรดา เหลืองวิลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทกับชีวิตของประชาชนคนไทยมาก ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและใช้บริการสมาร์ทโฟนได้ ดังนั้นเรื่องไทยแลนด์4.0 หรือ digital thailand จึงเป็นเรื่องที่เราต้องพูดถึง และล่าสุดรัฐบาลได้กำหนดแผนพัฒนาการทำงานขึ้นมาซึ่งกระทรวงเราได้เสนอแผนดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเข้าไปในแผนพัฒนาการทำงานของรัฐบาลด้วยโดยจะมีการพิจารณาแผนนี้ในวันที่ 8 มี.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งการพัฒนาเรื่องระบบสาธารณสุขโดยเชื่อมโยงกับดิจิตอลก็จะอยู่ในแผนนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เราได้ชวนคนในแวดวงสาธารณสุขมาช่วยกันคิดช่วยกันวางแผนว่าการทำงานของคนในแวดวงสาธารณสุขมีปัญหามีอะไรยังไงบ้างและมีเรื่อใดที่เป็นเรื่องสำคัญจะต้องทำเป็นลำดับแรกและจะต้องทำให้เป็นพื้นฐานเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยการทำงานของบุคลากรด้านสาธารณสุขสะดวกขึ้นง่ายขึ้นและประชาชนจะได้รับบริการและได้รับความสะดวกและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านก็ได้มีการพูดถึงเรื่องการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลว่าทำอย่างไรที่จะมีเครื่องมือเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสาธารณสุข ซึ่งได้มีการยกตัวอย่างในบางพื้นที่ที่ได้พัฒนาในเรื่องนี้จนเห็นผลแล้ว เช่นโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลรามาที่จะเริ่มทำข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยในระบบดิจิตอลโดยโรงพยาบาลจะจัดทำแอพพลิเคชั่นขึ้นมา และจะทำคิวอาร์โค้ดติดที่ถุงยาของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยแสกนคิวอาร์โค้ดข้อมูลของยาแต่ละตัวก็จะขึ้นมาว่ายาชนิดนี้ใช้รักษาโรคอะไรมีผลค้างเคียงอย่างไรบ้าง และผู้ป่วยจะต้องทานยาวันไหนเมื่อไหร่อย่างไรบ้าง นอกจากนี้แล้วเมื่อผู้ป่วยเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินผู้เข้าให้การช่วยเหลือก็จะสามารถนำคิวอาร์โค้ดจากถุงยาไปเราแสกนก็จะทราบข้อมูลเลยว่าผู้ป่วยป่วยด้วยโรคอะไร และกำลังรักษาด้วยยาตัวไหน แพ้ยาอะไร และเมื่อผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินก็สามารถนำคิวอาร์โค้ดนี้ไปสแกนในโรงพยาบาลต่างๆ ที่อยู่ใกล้เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้ตรงตามอาการและความเจ็บป่วยของโรคได้นี่เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วนของการพัฒนาดิจิตอลกับการสาธารณสุขซึ่งในอนาคตเราก็จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในรูปแบบนี้ขึ้นอีกเรื่อยๆ
ทั้งนี้การจัดงานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คนโดยภายในงานนอกจากมีการประชุมทางวิชาการแล้วนั้น ยังได้จัดให้มีการออกบูธและนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับงานการแพทย์ฉุกเฉินกว่า 80 บูธ จากทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉินและเทคโนโลยีสารสนเทศอีกด้วย