กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--NBTC Rights
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 2/2560 วันศุกร์ที่ 3 มี.ค. 60 มีวาระน่าจับตาได้แก่ การพิจารณาแนวทางการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปผ่านดาวเทียม ตามคำสั่ง คสช. 76/2559 วันที่ 20 ธ.ค. 59 เรื่องมาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามที่คณะกรรมการบริหารเงินกองทุนฯ เสนอให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการออกอากาศผ่านดาวเทียมตามหลักการเผยแพร่กิจการโทรทัศน์(Must Carry) รวม 26 ช่อง และโทรทัศน์สาธารณะ ผ่านดาวเทียม ช่อง TGN รวมระยะเวลา 3 ปี เป็นเงิน 1,410,910,560 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้มติที่ประชุม กสทช. ได้อนุมัติให้สำนักงาน กสทช. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 59 จนกว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ โดยแบ่งเป็น ปีที่ 1 ค่าใช้จ่ายตามสัญญาที่ตรวจสอบได้ช่วงวันที่ 20 ธ.ค. – 18 มี.ค. 60 จำนวน 100,152,000 บาท และตั้งแต่ 20 มี.ค. 60 – 19 ธ.ค. 60 จำนวน 371,486,880 บาท ในปีที่ 2 และ 3 ตั้งแต่ 20 ธ.ค. 60 – 19 ธ.ค. 62 ปีละจำนวน 469,635,840 บาท
"ส่วนตัวเห็นด้วยกับการมีมาตรการช่วยเหลือดิจิตอลทีวี แต่เห็นต่างเรื่องกรอบวงเงิน และวิธีการคิด เพราะอาจไม่ตรงจุดปัญหา และ กสทช.ต้องรอบคอบเรื่องจำนวนเงินที่จะจ่ายให้ค่าส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมที่ควรอิงราคาที่เป็นจริง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการเอื้อประโยชน์เอกชนบางรายได้ เพราะงบอาจสูงมากเกินไป ส่วนการจะช่วยช่อง TGN อาจไม่ตรงวัตถุประสงค์เพราะจะได้รับประโยชน์เฉพาะช่องเดียว ไม่ใช่ทีวีดิจิตอลทั้งหมด ที่สำคัญการช่วยเหลือควรเน้นที่การส่งสัญญาณภาคพื้นดินด้วย เพราะราคาค่าเช่าจากหน่วยงานรัฐตอนนี้สูงกว่าต้นทุน อีกทั้งควรหาแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเคเบิลทีวีที่ต้องรับภาระการส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลตามกฎมัสต์แครีตามที่เขายื่นข้อร้องเรียนมาด้วย" สุภิญญา กล่าว
นอกจากนี้ บอร์ดจะมีการพิจารณา (ร่าง)ประกาศ กสทช. ว่าด้วยมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. ... ตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 หลังผ่านบอร์ดแล้วจะมีการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อไป ซึ่งสาระสำคัญในร่างประกาศฉบับนี้ ประกอบด้วย การส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาตและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในองค์กรรูปแบบต่างๆเพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม อาทิ ความถูกต้อง เที่ยงตรง สมดุลและเป็นธรรมของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอ การตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนสิทธิส่วนบุคคลสิทธิในครอบครัวเกียรติยศชื่อเสียงข้อมูลส่วนตัว ตระหนักถึงความอิสระทางวิชาชีพความรับผิดชอบต่อสังคม ผลกระทบต่อผู้บริโภค เคารพในลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติเพื่อสร้างสรรค์สังคม ตลอดจนค่านิยมอันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่น คุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่มีความเสี่ยง และภาพที่ปรากฏในสื่อ และ ระมัดระวังการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง รวมทั้งมีการดำเนินการเยียวแก่ผู้เสียหายเนื่องจากรายการที่ออกอากาศเป็นเท็จ หรือละเมิดเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคล เป็นต้น
"หวังว่าร่างประกาศส่งเสริมการรวมกลุ่มฯ จะผ่านบอร์ด กสทช. ไปรับฟังความเห็น ร่างนี้จะเป็นบทเริ่มต้นของรูปธรรมในการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ในเรื่องจริยธรรม ที่รอมานาน" สุภิญญา กล่าว
วาระอื่นๆ น่าจับตาเพิ่มเติมได้แก่ วาระการออกร่างประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม. (ร่าง)ประกาศ เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคสำหรับเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมในกิจการวิทยุสมัครเล่นประเภททั่วไป (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้คลื่นร่วมกันระหว่างกิจการประจำที่ และกิจการประจำที่ผ่านดาวเทียมกับกิจการเคลื่อนที่ วาระอื่นๆ ติดตามในการประชุม กสทช. วันที่ 3 มี.ค. นี้