กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานในการเปิดการฝึกอบรม หลักสูตร พื้นฐานการให้บริการปรึกษาแนะนำการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ณ โรงแรมเอ็ม ทู เดอ บางกกอก ว่าการฝึกอบรมดังกล่าวเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เพื่อให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมความพร้อมในการให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบกิจการ
เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศให้มีความยั่งยืน โดยกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแนวทางที่จะให้แต่ละหน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ด้านแรงงาน เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลง และภายใต้การนำของพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำหนด 8 วาระปฏิรูป ด้านการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้น การดำเนินงานการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทย STEM Workforce จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
การฝึกอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับทักษะความรู้ ความสามารถของบุคลากรกรมฯ ให้มีทักษะในการปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแก่สถานประกอบกิจการ ให้คำแนะนำแก่พนักงานในสถานประกอบกิจการ เข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 เป็นนักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่ การฝึกอบรมมีทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ การฝึกภาคทฤษฎี มีเนื้อหาประกอบด้วย การออกแบบเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ประเมินสภาพปัญหาของสถานประกอบกิจการ สมรรถนะหลักในการเป็นที่ปรึกษา จรรยาบรรณในวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิธีการให้คำปรึกษาเบื้องต้น
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาคปฏิบัติ จะมีการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติการใช้เครื่องมือในการประเมินสถานประกอบกิจการจากกรณีศึกษาของสถานประกอบกิจการตัวอย่างและฝึกปฏิบัติงานจริง (On-the-job Training) รายงานหลักสูตร รวม 60 ชั่วโมง ช่วงที่ 1 ฝึกอบรมภาคทฤษฎี รวม 5 วัน ผู้เข้าอบรมรวม 120 คน ดำเนินการระหว่างวันที่ 6 – 10 มีนาคม 2560 ช่วงที่ 2 ฝึกปฏิบัติงาน(ภาคสนาม) ในสถานประกอบกิจการ ในเขตพื้นที่จังหวัดราชบุรี ระยอง กาญจนบุรี และแบ่งการฝึกภาคสนามรุ่นละ 40 คน รวม 3 รุ่น ตั้งแต่ เดือน เมษายน – พฤษภาคม 2560 ฝึกภาคสนาม รุ่นละ 5 วัน
สำหรับในปี 60 มีเป้าหมาย กลุ่ม SMEs 180 แห่ง พัฒนาพนักงานไม่น้อยกว่า 10,000 คน และในปี 61 กพร.มีเป้าหมายเชิญสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ อีกจำนวน 250 แห่ง โดยเฉพาะกลุ่ม SME เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิต มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีผลกำไรที่สูงขึ้น ประกอบธุรกิจได้อย่างมั่นคง สามารถรองรับการจ้างงานและช่วยเหลือแรงงานให้มีงาน มีรายได้สูงขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็จะดีขึ้นตามไปด้วย สำหรับพนักงานจะได้รับการพัฒนาทักษะ Multi-skill สามารถทำงานได้หลากหลายหน้าที่และได้รับโอกาสการพิจารณาขึ้นค่าจ้าง นายธีรพลกล่าว