กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--Triple J Communication
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงงาน และ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ว่าที่ประชุม กบง. ได้พิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ LPG เดือนมีนาคม 2560 โดยจากสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือนมีนาคม 2560 ได้ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 15 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 540 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ 2560 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.4221 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 35.1893 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับลดลง 0.9327 บาท/กก. จาก 21.5114 บาท/กก. เป็น 20.5787 บาท/กก. ดังนั้น เพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเตรียมการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG เต็มรูปแบบในอนาคต ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG เดือนมีนาคม 2560ไว้ที่ 20.96 บาท/กก. โดยปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลง 0.9327 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 7.5663 บาท/กก. เป็นชดเชยที่ 6.6336 บาท/กก. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายจ่ายลดลงจากเดือนก่อน ประมาณ 47 ล้านบาท จากเดิมมีรายจ่ายอยู่ที่ 490 ล้านบาท/เดือน ลดลงเหลือ 443 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ 40,423 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 6,961 ล้านบาท และ 2) ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 33,462 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ยังได้พิจารณาเรื่องการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG กรณีการนำเข้าและส่งออกก๊าซ LPG ทั้งนี้ เพื่อป้องกันภาวะการขาดแคลน และรักษาระดับสมดุลของการผลิตและจัดหาก๊าซ LPG ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ภายในประเทศ ที่ประชุม กบง. จึงได้รับทราบมาตรการรองรับความเสียหายอันเกิดจากการชดเชยราคาส่วนต่างจากการนำเข้าก๊าซ LPG แบบฉุกเฉิน (Prompt Cargo) พร้อมเห็นชอบหลักการการขออนุญาตส่งออกก๊าซ LPG ออกนอกราชอาณาจักร โดยให้กรมธุรกิจพลังงาน เป็นผู้ควบคุมดูแล และพิจารณาการขออนุญาตส่งออกเป็นรายเที่ยว โดยการขออนุญาตส่งออกก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ภายในประเทศ จะพิจารณาอนุญาตเฉพาะผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ที่เป็นผู้ผลิตก๊าซ LPG ให้สามารถส่งออกได้ในกรณีที่มีก๊าซ LPG เกินกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ และให้ผู้ส่งออกมีหน้าที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามอัตราที่กำหนด โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน รับไปดำเนินการออกประกาศอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการส่งออกก๊าซ LPG ดังกล่าวต่อไป