กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
สำนักงานศาลปกครอง ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผสานความร่วมมือนำเทคโนโลยีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ มาใช้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่จัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ อันจะเป็นรากฐานสำคัญนำสู่ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Court ต่อไป
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า จากความจำเป็นในโลกที่มีการพัฒนาด้วยดิจิทัลและแข่งขันกันที่ความรวดเร็ว ETDA ได้ดำเนินการศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Document ตามมาตรฐานสากล เช่น การพัฒนาระบบ Trusted Electronic Document Authority (TeDA) ที่รองรับการสร้างและจัดเก็บเอกสารในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Archive and Record Management) ครอบคลุมในเรื่องการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) การประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Time Stamping) และการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับข้อกำหนดใน พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นต้นแบบระบบบริการของหน่วยงานภาครัฐ ในการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ทดแทนเอกสารกระดาษ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนด้วยความรวดเร็วและน่าเชื่อถือ สอดรับกับยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
ไกรรัช เงยวิจิตร เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง กล่าวเสริมว่า สำนักงานศาลปกครอง ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Court เพื่อให้ตามทันคนยุคดิจิทัลเช่นกัน ด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการบริหารจัดการสำนวนคดี ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาคดี เป็นอีกช่องทางในการสร้างความน่าเชื่อถือ ศรัทธา และความเข้าใจที่ดีของสาธารณชนต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยที่มีการปรับตัวตามยุคสมัยได้ ซึ่งได้นำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการนำเทคโนโลยีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) มาใช้กับคำพิพากษาหรือคำสั่งทางปกครอง และในกระบวนการอื่น ๆ ที่จัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่าง สำนักงานศาลปกครอง และ ETDA ในวันนี้
ภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ ครั้งนี้ จะมีการส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของสำนักงานศาลปกครอง โดยนำเทคโนโลยีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature) ที่ให้ความสำคัญกับการนำเอาลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่นที่มีความเหมาะสมมาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองและการบริการที่มีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชน โดยจะนำมาใช้กับคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่มีการจัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อยืนยันความถูกต้องที่มาของข้อมูลและป้องกันการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครอง ทั้งที่มีการจัดเก็บและใช้ภายในระบบงานของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครอง และเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านช่องทางต่าง ๆ
"สำนักงานศาลปกครองจะใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถป้องกันการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้กับคำพิพากษา/คำสั่งศาลปกครองที่จัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งระบบการตรวจสอบใบรับรองตัวตนบนเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Document Validation Service อีกทั้งจะขยายผลการใช้งานลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนงานอื่น ๆ เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารที่จัดทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดส่งผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานศาลปกครอง" ไกรรัช กล่าว
"ทาง ETDA จะให้คำปรึกษาด้านการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งการตรวจสอบความถูกต้องและน่าเชื่อถือของการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเอกสารของศาลปกครองและสำนักงานศาลปกครองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้แก่บุคลากรของสำนักงานศาลปกครอง เพื่อบำรุงรักษาระบบให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและพัฒนาต่อยอดได้เองในอนาคต
"ที่สำคัญคือ จะมีการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงกระบวนการและขั้นตอนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลด้วยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะนำมาสู่การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้อย่างเป็นมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ลดภาระด้านเอกสาร และการเดินทางในการรับบริการจากภาครัฐ ได้ทั้งระบบต่อไป" สุรางคณา กล่าวทิ้งท้าย