กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่65.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลลดลง 1.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อราคาน้ำมันดิบ
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 10 มี.ค. 60 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8 แท่น อยู่ที่ 617 แท่น สูงสุดตั้งแต่ ก.ย. 58
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด
วันที่ 3 มี.ค. 60 เพิ่มขึ้น 8.2 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 528.4 ล้านบาร์เรล
· EIA เผยในรายงาน Short Term Energy Outlook ปรับคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้น 0.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 0.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า มาอยู่ที่ 9.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 9.73 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาด ICE ที่ลอนดอนและตลาด NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุด 7 มี.ค. 60 กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลง 19,513 สัญญา จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 401,659 สัญญา
ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบ
· S&P Global Platts รายงานกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC ร่วมมือปรับลดปริมาณการผลิตโดย Compliance Rateของเดือน ม.ค. และ ก.พ. 60 คงอยู่ระดับสูงที่ 98.5 %
· กรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ก.พ. 60 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 8.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ จีนนำเข้าน้ำมันดิบหลากหลายชนิดมากขึ้น หลังจากโรงกลั่นอิสระหลายแห่งขยายและพัฒนาหน่วยการกลั่นน้ำมันดิบ (CDU Capacity)
· การสู้รบในลิเบียระหว่าง Benghazi Defense Brigades (BDB) กับ กองกำลัง Libya National Army (LNA) ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 60 เพื่อแย่งชิงท่าส่งออกน้ำมันดิบ Ras Lanuf (200,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Es Sider (350,000บาร์เรลต่อวัน) ทำให้การส่งออกหยุดชะงัก และลิเบียผลิตน้ำมันดิบลดลง จาก 700,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ663,000 บาร์เรลต่อวัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI และ ICE Brent ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ปรับตัวลดลง 1.6 % หลังนักลงทุนเทขายสัญญาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าต่อเนื่อง ตามสัญญาณขายทางเทคนิค อาทิ ราคา NYMEX WTI ในระหว่างวัน ร่วงลงตัดผ่านเส้นราคาเฉลี่ย 200 วัน ที่ระดับ 48.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นักวิเคราะห์คาดว่ากลุ่มกองทุนอาจเทขายสัญญาน้ำมันดิบอีกในช่วงปลายสัปดาห์ จากความกังวลต่อแนวโน้มอุปทานน้ำมันจากสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นชัดเจน อาทิ จำนวน Rig เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 8 สัปดาห์ และปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับกลุ่ม OPEC แสดงท่าทีวิตกในการประชุมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระหว่าง OPEC และบริษัทผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่ CERA Week ซึ่งเป็นงานสัมมนาสำคัญของอุตสาหกรรมน้ำมันโลกที่เมือง Houston ของสหรัฐฯ ว่า "ผู้ผลิตในสหรัฐฯ ไม่ควรถือว่า OPEC ลดปริมาณการผลิตน้ำมัน เพื่อให้สหรัฐฯ ผลิตเพิ่ม" ทั้งนี้ให้จับตามองการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee) หรือ FOMC ในวันที่ 14-15 มี.ค. 60 หลังตลาดแรงงานแข็งแกร่ง โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า FOMC จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ (ปัจจุบันอยู่ที่ 0.50%-0.75%) ทางด้านเทคนิคสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50.5-53.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 49.0-51.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 50.0-52.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
Platts รายงานความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในเอเชียลดลง ขณะที่อุปทานในเอเชียเหนือและอินเดียอยู่ในระดับสูง โดยโรงกลั่น Qinzho (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท PetroChina ในจีนมีแผนส่งออกน้ำมันเบนซิน ปริมาณ 3.14 ล้านบาร์เรล ในเดือน มี.ค.60 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อนึ่งโรงกลั่นดังกล่าวไม่ได้ส่งออกในเดือน ม.ค. 60 เนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศอยู่ในระดับสูง ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillatesเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 8 มี.ค.60 เพิ่มขึ้น 1.25 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 13.93 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 4 มี.ค.60 เพิ่มขึ้น 0.03 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 10.79 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานรัสเซียผลิตน้ำมันเบนซิน ในเดือน ม.ค. 60 ลดลง 12.1 % จากเดือนก่อน หรือ 8.4 % จากปีก่อน อยู่ที่ 24.8 ล้านบาร์เรล และมีแนวโน้มจะผลิตลดลง ในเดือน ก.พ. 60 เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันมีแผนปิดซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้น สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62.0-64.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลรายสัปดาห์ปรับลดลงจากกรมการขนส่งทางบกของเยอรมนี (Federal Motor Transport Authority) รายงานยอดขายรถยนต์ เดือน ก.พ. 60 ลดลงจากปีก่อน 2.6 % อยู่ที่ 243,602 คัน ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกตั้งแต่เดือน ต.ค. 59 โดยส่วนแบ่งตลาดรถที่ใช้เครื่องยนต์น้ำมันดีเซลลดลง 3.8 % จากปีก่อน อยู่ที่ 43.4 % ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 8 มี.ค. 60 เพิ่มขึ้น 0.25 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 13.02 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ นอกจากนั้นคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission หรือ NDRC) แถลงว่าจะดำเนินมาตรการลดกำลังการผลิตส่วนเกินของเหล็กกล้าและถ่านหินในประเทศต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2561 เป็นอย่างน้อยที่สุด ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะมีผลทางอ้อมต่อการใช้น้ำมันดีเซล อย่างไรก็ตาม Petroliam Nasional Bhd. (Petronas) ของมาเลเซียออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05 %S ปริมาณ 50,000 -250,000 บาร์เรลต่อเดือน แบบสัญญาระยะยาว (Term) ส่งมอบ มิ.ย. 60-พ.ค. 61 และ PAJ รายงานปริมาณสำรองดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 4 มี.ค. 60 ลดลง 0.74 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 9.38 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61.0-63.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล