กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการป้องกันและช่วยเหลือภัยแล้ง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสมโดยใช้ Agri-Map ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชัยนาท อ่างทอง และสิงห์บุรี ณ จ.ชัยนาท ในโอกาสนี้พลเอกฉัตรชัยได้รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ สถานการณ์เพาะปลูก และการดำเนินการตามแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ปี 2559/2560 จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นเดินทางไปยังแปลงปลูกถั่วลิสง ต.ธรรมมามูล อ.เมือง และพื้นที่ปลูกข้าว ต.แพรกศรีราชา อ.สวรรคบุรี จ.ชัยนาท เพื่อพบปะเกษตรกร ก่อนเดินทางไปยังพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ ต.หนองแซง อ.หันหา เพื่อรับชมนิทรรศการ และรับฟังบรรยายสรุปการปรับเปลี่ยนจากนาข้าวไปเลี้ยงปศุสัตว์ พร้อมมอบโค จำนวน 20 ตัวให้เกษตรกร จากนั้นตรวจเยี่ยมพื้นที่ปลูกหญ้าแพงโกล่า ต.หางน้ำสาคร อ.มโนรมย์ ที่เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมไปปลูกหญ้าแพงโกล่าและเลี้ยงแพะ
พลเอกฉัตรชัย เปิดเผยว่า ฤดูแล้งปีนี้คือช่วง พ.ย. 59 - เม.ย. 60 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และวางแผนการแก้ปัญหาล่วงหน้า โดยมีเป้าหมายสำคัญคือให้พื้นที่การเกษตรเสียหายน้อยที่สุด อย่างไรก็ตามความรุนแรงของสถานการณ์แล้งในปีนี้นั้นน้อยกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากปี 2559 มีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปลายปีทำให้มีน้ำต้นทุนในแหล่งเก็บน้ำมากกว่าปีก่อนๆ โดย 34 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 9 มี.ค. 60 มีน้ำใช้การได้ 19,981 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าวันเดียวกันของปีที่แล้ว 7,502 ล้าน ลบ.ม. (ปีที่แล้วมี 12,479 ล้าน ลบ.ม.) ส่วน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ณ วันที่ 9 มี.ค. 60 มีน้ำใช้การได้ 6,624 ล้น ลบ.ม. มากกว่าวันเดียวกันของปีที่แล้ว 3,426 ล้าน ลบ.ม. (ปีที่แล้วมี 2,996 ล้าน ลบ.ม.) อีกทั้ง สภาพอากาศนี้ปีนี้ มีโอกาสเกิดลานีญาทำให้ฝนมาเร็วกว่าปกติ ซึ่งในช่วงนี้เริ่มมีพายุฤดูร้อน มีฝนตกทางภาคอีสาน และภาคตะวันออกแล้ว ทั้งนี้ ได้ทำการวิเคราะห์พื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดน้ำ พบว่าพื้นที่ในเขตชลประทานไม่มีความเสี่ยง แต่พื้นที่นอกเขตชลประทานมีความเสี่ยง 34 จังหวัด 105 อำเภอ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตอนกลางของประเทศลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อเทียบกับการวิเคราะห์ในปีที่แล้ว พบพื้นที่ทั้งใน/นอกเขตชลประทานมีความเสี่ยง 46 จังหวัด 391 อำเภอ ดังนั้นในปีนี้จึงน้อยกว่าปีที่แล้ว
สำหรับการเตรียมการช่วยเหลือภัยแล้งด้านการเกษตรปี 2560 มีแผนที่เกี่ยวข้อง 4 แผน ได้แก่ 1. แผนการจัดสรรน้ำ 2. แผนการเพาะปลูกพืช 3. แผนการปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งปี 2560 และ 4. แผน/มาตรการช่วยเหลือภัยแล้งด้านการเกษตรปี 2560 ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 60 โดยใช้งบปกติ วงเงินประมาณ 17,334.82 ล้านบาท ประกอบด้วย 6 มาตรการ 29 โครงการ ได้แก่ 1. มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง 7 โครงการ เช่น การส่งเสริมความรู้การปลูกพืชในฤดูแล้ง การพัฒนาอาชีพเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน 2. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร 5 โครงการ เช่น การปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย การปรับเปลี่ยนไปเป็นปศุสัตว์ การปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง การปลูกพืชปุ๋ยสด 3. มาตรการเพื่อปริมาณน้ำต้นทุน 8 โครงการ เช่น การขุดเจาะน้ำบาดาล การก่อสร้าง/ขุดลอกแหล่งน้ำ การก่อสร้างบ่อน้ำในไร่นา (บ่อจิ๋ว) 4. มาตรการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย 7 โครงการ เช่น การจ้างแรงงานเกษตรกร การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามระเบียบฯ การสำรองเมล็ดพันธุ์ช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง 5. มาตรการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ 2 โครงการ และ 6. มาตรการจัดทำแผนชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง
"การลงพื้นที่ในวันนี้ได้ติดตามการดำเนินการต่างๆ เช่น การสร้างความเข้าใจในเรื่องการพักนา เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินก่อนทำนารอบต่อไป ในส่วนของปศุสัตว์เป็นการปรับเปลี่ยนโดยใช้Agri-Map ซึ่งเดิมเกษตรกรปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ใช้ต้นทุนสูง แต่ผลผลิตน้อย ตลอดจนการปรับเปลี่ยนการทำนาไปปลูกถั่วลิสง ซึ่งแปลงปลูกถั่วลิสง ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท มีต้นทุนการปลูกถั่วลิสงไร่ละ 1,500 - 1,800 บาท ขายได้กำไร ไร่ละ 2,500 - 3,000 บาท ปัจจุบันราคารับซื้อถั่วลิสง ถังละ 350 - 400 บาท ทำให้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ ทดแทนการทำนาได้ดีในช่วงหน้าแล้งที่ปลูกพืชชนิดอื่นไม่ได้ผล เป็นแบบอย่างการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ลดการใช้น้ำ และเกษตรกรมีรายได้ที่ดีกว่า จึงอยากให้มีการขยายผลให้กว้างขึ้น โดยหน่วยงานรัฐต้องเข้ามาสนับสนุนทั้งความรู้ ปัจจัยการผลิต และตลาด การแปรรูปโดยมีภาคเอกชนเข้ามาช่วยในรูปแบบประชารัฐ" พลเอกฉัตรชัย กล่าว