กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--
- สร้างสีสันใหม่ให้โลกหนังสือ ผ่านกิจกรรมอ่าน-เขียนจาก 430 สำนักพิมพ์ จำนวน 947 บูธ ด้วยแนวคิด "อ่าน อ่าน และอ่าน" ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564
- ครั้งแรก!! ที่ "ประเทศฟินแลนด์"ร่วมเป็น Guest of Honor ด้วยกิจกรรม "The Joy of Reading – Key to Lifelong Learning" เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งประเทศฟินแลนด์
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ประกาศความพร้อมจัด "งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15 (45th Nation Book Fair and 15th Bangkok International Book Fair 2017)" ในระหว่างวันพุธที่ 29 มีนาคม - วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560 (12 วัน) โดยวันพุธที่ 29 มีนาคม เปิดเข้าชมงานตั้งแต่เวลา 10.00 - 13.00 น. และ 19.00 - 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด "อ่าน อ่าน และอ่าน" โดย นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) นางสุชาดา สหัสกุล อุปนายกฝ่ายในประเทศสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย นางสาวกนกอร ศักดาเดช ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ ผู้จัดทำนิทรรศการ "หนังสือที่รฦกงานศพ: มรดกวัฒนธรรมประจำชาติ" และ ฯ พณ ฯท่าน ซาตู ซุยก์การี-เคลฟเวน (Satu Suikkari-Kleven) เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ ประจำประเทศไทย
นายจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า "งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15 (45th Nation Book Fair and 15th Bangkok International Book Fair 2017)" เป็นงานแสดงหนังสือที่ได้รับความสนใจและรอคอยจากบรรดาคนรักการอ่านมาตลอด โดยในปีนี้ยังคงจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สวนกระแสเศรษฐกิจ เพราะนอกจากจะมีสำนักพิมพ์ไทยตอบรับเข้าร่วมงานกว่า 430 แห่ง รวมทั้งสิ้น 947 บูธ บนพื้นที่ประมาณ 21,000 ตารางเมตรแล้วนั้น ยังได้รับเกียรติจาก "ประเทศฟินแลนด์" เข้าร่วมงานในฐานะ ประเทศรับเชิญเกียรติยศ (Guest of Honor) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งประเทศฟินแลนด์ด้วยกิจกรรม "The Joy of Reading – Key to Lifelong Learning" โดยนำเสนอหนังสือหลากหลายประเภทส่งตรงจากฟินแลนด์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวรรณกรรมและงานออกแบบต่างๆ พร้อมส่งเสริมการอ่านด้วยมุมอ่านหนังสือ ซึ่งถือเป็นการเปิดโลกการอ่านให้คนไทยได้เห็นถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายของหนังสือ และวัฒนธรรมการอ่านซึ่งนำไปสู่การศึกษาที่เข้มแข็งในอีกซีกโลก
"ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมการอ่านนั้น เล็งเห็นว่าหนังสือและการอ่านถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างประเทศอย่างมั่นคง และนำไปสู่การพัฒนาในทิศทาง "ไทยแลนด์ 4.0" ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ เพราะการอ่านสามารถสร้างคนที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นได้ เพราะคนถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของการที่จะพัฒนาประเทศในทิศทางต่างๆ ซึ่งถ้าคนในชาติอ่านมากขึ้น ก็จะมีความรู้ ความคิด สมาธิ วิสัยทัศน์ การขบคิด และวิจารณญาณในการพิจารณาประเด็นต่างๆเพิ่มขึ้นจากความรู้ที่ได้รับ" นายจรัญกล่าว
โดยในปีนี้ได้จัดงานภายใต้แนวคิด "อ่าน อ่าน และอ่าน" ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560-2564 โดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีเป้าหมายให้คนทุกวัยในสังคมไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง และภายในระยะเวลา 5 ปี ต้องผลักดันให้คนไทยใช้เวลากับการอ่านที่มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า และในส่วนของนิทรรศการไฮไลท์ซึ่งเป็นจุดเด่นของงานสัปดาห์หนังสือฯในทุกครั้งนั้น ปีนี้คือ "นิทรรศการ หนังสือที่รฦกงานศพ: มรดกวัฒนธรรมประจำชาติ" โดยร่วมกับสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีไฮไลท์เด่น คือ หนังสือที่ระลึกงานพระบรมศพ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" "พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว" และ "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร" รวมถึงหนังสือที่ระลึกงานพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ หนังสือที่ระลึกงานศพของข้าราชการ บุคคลทั่วไป และหนังสือที่ระลึกงานศพที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์ด้วย
โดยเป็นครั้งแรกที่เราจะได้มีโอกาสชมหนังสือที่ระลึกงานพระบรมศพ ความตายไม่ได้นำมาเพียงความโศกเศร้าและสูญเสียเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งการสร้างสรรค์แก่คนในสังคมได้อีกด้วย โดยเฉพาะในสังคมไทย "หนังสืองานศพ" หรือ "หนังสือผีสร้าง" ที่สามารถย้อนรอยเส้นทางกลับไปได้ถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 และจัดว่าเป็นลักษณะเฉพาะของหนังสือประเภทหนึ่ง ที่ไม่สามารถหาพบได้ที่ไหนอีกแล้วในโลก เพราะเป็นหนังสือซึ่งมีเนื้อหาสาระดี มีประวัติผู้ตาย ที่พิมพ์แจกในงานศพ ไม่ได้ตั้งใจพิมพ์จำหน่ายเหมือนหนังสือทั่วไป ที่สำคัญนอกจากหนังสืองานศพจึงเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมไทยแล้ว ยังมีคุณค่าในการศึกษาประวัติศาสตร์สังคมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมาวงวิชาการโดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับหนังสืองานศพค่อนข้างมาก ใช้ข้อมูลจากหนังสือมาช่วยในการวิเคราะห์หลายเรื่องราวในอดีตที่ส่งผลถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ทางหอสมุดแห่งชาติ จะจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อเดียวกับนิทรรศการขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ นำโดย ศาสตราจารยพิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง และ นายธีระ แกวประจันทร มาร่วมเป็นวิทยากร อีกด้วย"
นายจรัญยังเปิดเผยอีกด้วยว่า นอกจากนิทรรศการไฮไลท์แล้ว ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ นิทรรศการสื่อ 60 พรรษา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อเผยแพร่สื่อ 60 พรรษา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตามแนวพระราชดำริในการจัดทำสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล และโรงเรียนที่จัดการสอนแบบคละชั้น นิทรรศการหนังสือดีเด่น ประจำปี 2560 นิทรรศการการประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2560 เพื่อส่งเสริมการประกวดวรรณกรรมแนวการเมือง และการแสดงภาพเขียนสีน้ำมัน "9 ทศวรรษ ฉัตรชัยประชา" ของ เปี๊ยก โปสเตอร์ (สมบูรณ์สุข นิยมศิริ) ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2558 สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) โดยชมรมวิจารณ์บันเทิง นำภาพมาพิมพ์เป็นหนังสือด้วยกระดาษวาดเขียน จำนวน 13 ภาพ ที่ควรค่าแก่การเก็บสะสมอีกด้วย และรายได้ทั้งหมดจะมอบให้แก่ เปี๊ยก โปสเตอร์ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ
นอกจากนี้ในโครงการ "๑ อ่าน ล้านตื่น" ที่สมาคมดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องนั้น ในปีนี้ได้มีแคมเปญ "อ่านช่วยใต้" ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดซื้อหนังสือให้กับห้องสมุดตามโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทางภาคใต้ เพียงโพสรูปลีลาท่าอ่านหนังสือสุดเจ๋งในแบบฉบับของตัวเองใน Social Network (IG, FB, Twitter) พร้อมแฮชแท็ก #สัปดาห์หนังสือครั้งที่45 #อ่านเล่นท่า #อ่านช่วยใต้ และตั้งค่าสาธารณะ หากทำตามกติกาที่กำหนดไว้ทั้งหมด ทางสมาคมฯจะสมทบทุนให้ทันทีรูปละ 10 บาท โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม – 9 เมษายน 2560 และรายได้ทั้งหมดจะนำไปสนับสนุนการจัดซื้อหนังสือให้กับห้องสมุดโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป
แม้ว่าขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัว แต่ก็มีหนังสือออกใหม่ในงานนี้กว่า 350 ปก และเชื่อมั่นว่าจะมี ผู้ร่วมชมงานสัปดาห์หนังสือฯไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านคน ซึ่งจะสามารถช่วยกระตุ้นรายได้ให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆได้อีกด้วย โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนทำหนังสือด้วยใจรัก จากสภาวะปัจจุบันคาดว่าต่อไปการทำหนังสือจะเป็นธุรกิจที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยหนังสือที่เป็นกระดาษยังอยู่ได้โดยมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปริมาณหนังสือลดลง และราคาไม่ได้เป็นปัจจัยตัดสินใจหลักในการตัดสินใจซื้ออีกต่อไป ซึ่งขณะนี้หนังสือที่ขายดีในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นแนวนวนิยายประเภทต่างๆ แนววัยรุ่น แนวพัฒนาความรู้ และมีอีกประเภทที่เติบโตอย่างน่าสนใจคือหนังสือคู่มือแบบเรียน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของการศึกษาไทย เพราะฉะนั้นอยากเชิญมาฟังเสวนาของประเทศฟินแลนด์กัน ซึ่งจะมาเปิดเวิร์คช็อป (Workshop) การศึกษา 1 วัน โดยจะมาถอดบทเรียนความสำเร็จให้เราได้ดูว่า การอ่านนำไปสู่การศึกษาที่เข้มแข็งได้อย่างไร
"สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15 จะจัดขึ้นระหว่างวันพุธที่ 29 มีนาคม - วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560 รวมทั้งสิ้น 12 วัน โดยวันพุธที่ 29 มีนาคม เปิดเข้าชมงานตั้งแต่เวลา 10.00 - 13.00 น. และ 19.00 - 21.00 น. และวันพฤหัสที่ 30 มีนาคม-วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน เปิดเข้าชมงานตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์" นายจรัญกล่าวสรุป
เตรียมตัวให้พร้อม มาหอบความสุข พกความรู้กลับบ้านด้วยกัน