กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--ไอแอมพีอาร์
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสมัชชาการศึกษาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่(ABE) พร้อมสนับสนุนงกระทรวงศึกษาธิการในการปฏิรูปการศึกษา ตั้งเป้ายกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งจังหวัด หลังได้รับรางวัลชมเชยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดีประจำปี 2559 จากสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ล่าสุดจับมือ สสค. และ สกว. นำโครงการ SQIP เพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาโรงเรียนในทุกมิติเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้อย่างมีความสุข
นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยภายหลังจากการเข้ารับรางวัล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดีประจำปี 2559 โดยได้รับเกียรติจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 48 แห่ง ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับรางวัลชมเชย ประเภททั่วไป(องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่)ว่า ในการจัดการศึกษาตนเชื่อมั่นว่ากระทรวงศึกษาธิการยังคงเป็นมืออาชีพเรื่องของการศึกษา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีตัวช่วยจากท้องถิ่น เพราะการปฏิรูปการศึกษานั้นหากทำอย่างเดียว เพียงคนเดียว หรือหน่วยงานเดียวไม่มีทางสำเร็จแน่นอน จึงเป็นที่มาของการระดมความร่วมมือของชาวสุราษฎร์ธานีทุกภาคส่วนในการจัดตั้งสมัชชาการศึกษาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อชวนทุกคนมาช่วยกันในการจัดการศึกษา
"ปัญหาส่วนใหญ่ของการศึกษาส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นโอเน็ตหรือผลการสอบต่างๆ อาจจะไม่ใช่ปัญหาของคนสุราษฎร์ซะทีเดียว พวกเราจึงพยายามมองปัญหาการเรียนรู้ของเด็กสุราษฎร์ร่วมกันเลยดีกว่า จึงเป็นที่มาในการทำหลักสูตรพุทธทาสศึกษา การจัดหลักสูตรคัดกรองเด็ก LD และการเรียนรู้แบบ PLC เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพการสอนของครู ที่สะท้อนให้เห็นว่าท้องถิ่นพยายามเข้าไปช่วย แต่ไม่ค่อยทราบข้อมูลความต้องการของพื้นที่เท่าที่ควร การที่ สสค.มาช่วยทำให้เกิดข้อมูลของจังหวัดและระบบสารสนเทศจึงเป็นเรื่องจำเป็นไว้ทำงานในพื้นที่ต่อไป เพื่อสร้างสิ่งที่ดีให้กับเด็กสุราษฎร์"
สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็น 1 ใน 14 จังหวัดนำร่องในการ "ปฏิรูปการศึกษา" ภายใต้ โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้หรือการจัดการศึกษาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-Based Education) โดยได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะแรกจากงาน 4 ด้านคือ 1) การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา 2) การพัฒนาเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ 3) การจัดหลักสูตรพุทธทาสศึกษา และ 4) การพัฒนากลไกและแนวทางการหนุนเสริมชุมชนการเรียนรู้วิชาชีพครูเพื่อพัฒนาผู้เรียน(PLC) และล่าสุดได้ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรุ้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) นำ "โครงการวิจัยและปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง" (School Quality Improvement Program: SQIP) มาใช้กับโรงเรียนขนาดกลางและเล็กในพื้นที่ เพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาโรงเรียนทั้งในด้านของคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างมีความสุข
โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่ประสบความสำเร็จในการนำ "โครงการพัฒนาระบบกลไกและแนวทางการหนุนเสริมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาผู้เรียน (Professional Learning Community)" หรือ PLC ภายใต้ "โครงการพัฒนาครูโดยใช้พื้นที่เป็นฐานจังหวัดสุราษฎร์ธานี" ไปใช้เพื่อพัฒนาครูและสร้างคุณภาพการเรียนรู้อย่างมีความสุขให้เกิดขึ้น และมีเป้าหมายในขยายผลออกไปครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อหนุนพลังครูไปสู่การปฏิรูปการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่
นอกจากการนำกระบวนการ PLC ไปใช้ในการแก้ปัญหาในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัด ที่ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้ารับการอบรมพัฒนากระบวนการ PLC โดยการสนับสนุนขององค์การบริการส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปแล้วจำนวน 2 รุ่น รวม 20 โรงเรียนแล้ว
"การศึกษาในพื้นที่วันนี้ก็เช่นกัน เราต้องเริ่มบริหารจัดการจากความต้องการและปัญหาของคนในพื้นที่เป็นจุดเริ่มต้น วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้คนสุราษฎร์ฯ หันมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมองเรื่องของเด็ก เรื่องการศึกษา เชื่อมโยงกับเรื่องของสังคม โดยสมัชชาการศึกษาสุราษฎร์จะทำหน้าที่เป็นกลไกที่คอยหนุนเสริมเชื่อมโยงความร่วมมือกับองค์กรภาคีและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ รวมไปถึงช่วยสะท้อนความต้องการของคนในจังหวัดว่าอยากเห็นลูกหลานของคนสุราษฏร์ธานีเป็นอย่างไร" นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์กล่าวสรุป.