กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· สจล. หวั่นการบริหารจัดการ "โรงไฟฟ้าถ่านหิน" ใต้บริบทสังคมไทย แนะให้คนกลางเป็นผู้จัดทำ EIAและ EHIA พร้อมเปิดให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเพื่อความโปร่งใส
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ย้ำทางเลือกการสร้างความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ห่วงการบริหารจัดการ "เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด" ภายใต้บริบทสังคมไทย ชี้การพัฒนาประเทศสู่ยุค 4.0 ควรพิจารณาพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนควบคู่เชื้อเพลิงถ่านหิน ระบุพื้นที่ภาคใต้มีศักยาภาพผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล (Biomass) จากทะลายปาล์ม กาบและกะลามะพร้าว แต่ต้องอาศัยการผลักดันและสนับสนุนอย่างจริงจังและเป็นระบบ
รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดี และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า การขยายตัวทางสังคมและเศรษฐกิจส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันในประเทศไทยภาคใต้ที่เป็นภูมิภาคที่มีปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ โดยข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในช่วงที่มีการใช้สูงสุด(พีค) กล่าวคือมีความต้องการ 2,630 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังการผลิตในพื้นที่ภาคใต้ผลิตได้ 2,225 เมกะวัตต์ สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 (Thailand Power Development Plan: PDP2015) อันเป็นแผนแม่บทในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาวนั้น มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ กำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 800 เมกะวัตต์ ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงต้องใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า เป็นเพราะต้นทุนต่ำกว่าการใช้แหล่งเชื้อเพลิงหรือพลังงานทดแทนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ล่าสุดรัฐบาลได้สั่งให้ กฟผ. ดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมแนวทางป้องกันผลกระทบด้านต่างๆ ต่อทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนโดยรอบ ตามประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคัดค้านจากหลายฝ่ายไปแล้วนั้น ในทางปฏิบัติยังคงมีประเด็นเกี่ยวเนื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียง ไม่น้อยไปกว่าประเด็นแรกคือ "เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด" ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่ระบุตามแผนงาน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าแต่ปล่อยมลพิษน้อยลง ได้จริงภายใต้บริบทการบริหารจัดการของประเทศไทยหรือไม่ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. เทคโนโลยีที่นำมาใช้ ส่วนตัวเชื่อมั่นในเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะนำมาใช้ และ 2. การขนส่งถ่านหิน ค่อนข้างห่วงใยกระบวนการขนส่งซึ่งอาจกระทบ ต่อทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวได้ หากระบบบริหารจัดการไม่รัดกุม
"แน่นอนว่าแผนการนำเทคโนโลยีขั้นสูงกว่ามาใช้ จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า โดยใช้ถ่านหินน้อยลงและลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม แต่ในทางปฏิบัติยังคงเกิดคำถามในแง่การบริหารจัดการ ว่าจะสามารถทำได้ตามแผนและมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะประเด็นการขนส่งถ่านหินทางเรือขนาดใหญ่ แม้จะมีการระบุปริมาณบรรทุก ความเร็วเดินเรือ รวมไปถึงรูปแบบการขนส่งแบบปิด แต่ด้วยภาพหลอนผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในอดีต ทำให้ชาวบ้านและสังคมไทยยังคงหวาดกลัวและไม่มั่นใจ กระบวนการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติจากเหตุไม่คาดฝัน ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางอาจช่วยเพิ่มความเข้าใจได้มากขึ้น" รศ.ดร.สุรินทร์ กล่าว
รศ.ดร.สุรินทร์ กล่าวต่อว่า นอกจากการเปิดเผยกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ให้ชัดเจนและโปร่งใส เพื่อความเชื่อมั่นของชุมชนในพื้นที่และคนทั้งประเทศแล้ว อาจต้องชี้ให้ชัดเจนว่าการเสียสละของคนกระบี่ในการก่อตั้งโรงไฟฟ้า จะได้รับสวัสดิการหรือการสนับสนุนที่มากกว่าคนในพื้นที่อื่นหรือไม่ เช่น ให้ใช้ไฟฟรี หรือเพิ่มอัตราการใช้ไฟฟรีต่อเดือน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ด้วยบริบทสังคมไทยในขณะนี้แม้เชื้อเพลิงถ่านหิน จะถูกมองว่าเหมาะสมในการนำมาผลิตไฟฟ้ามากที่สุด แต่หากมองในแง่การพัฒนาประเทศซึ่งกำลังก้าวสู่ยุค 4.0 เราอาจต้องมองถึงพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนควบคู่กันไป ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ถือว่าพลังงานชีวมวล (Biomass) จากทะลายปาล์ม กาบและกะลามะพร้าว มีศักยภาพสูงพอสมควร แต่ต้องอาศัยการผลักดันและสนับสนุนอย่างจริงจังและเป็นระบบ
ด้าน รศ.ดร.จารุวัตร เจริญสุข หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเสริมว่า ตามแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่ง กฟผ. ระบุว่านอกจากจะใช้ถ่านหิน ซับบิทูมินัส หรือ บิทูมินัส ซึ่งดีกว่า ลิกไนท์ ขณะเดียวกันยังใช้หม้อไอน้ำระบบเผาไหม้เทคโนโลยี Ultra Supercritical ซึ่งมีประสิทธิการเปลี่ยนพลังงานในถ่านหินเป็นไฟฟ้าถึง ร้อยละ 45 แต่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไอออกไซด์ลง ร้อยละ 20 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเก่า Subcritical ที่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 33-37 ควบคู่ไปกับการติดตั้งอุปกรณ์กำจัดมลสาร ได้แก่ เครื่องควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) อุปกรณ์ดักจับฝุ่นละอองแบบไฟฟ้าสถิต (ESP) เครื่องควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์(FGD) และอุปกรณ์ดักจับไอปรอท (ACI) โดยตามรายงานระบุว่าค่าควบคุม ฝุ่นละออง อยู่ที่ 30 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซัลเฟอร์ไดออกไซต์ และ ออกไซด์ของไนโตรเจน 50 มิลลิกรัม/ลูกบาศก์เมตร หากสามารถควบคุมได้ตามแผนดังกล่าวจริง ถือว่าต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ไทยกำหนด ซึ่งไม่น่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในสถาบันการศึกษาของไทยและ สจล. เองก็มีหลักสูตรการเรียนการสอนและห้องปฏิบัติการ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเผาไหม้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการเผาไหม้ด้วยเทคโนโลยี Ultra Supercritical แบบเดียวกับที่ กฟผ. จะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งในแง่ของเทคโนโลยีที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ การผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเทคโนโลยี Subcritical แต่ลดการปล่อยมลพิษลงสามารถทำได้จริง แต่เนื่องจากภาพหลอนของสังคมไทยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ดังนั้น จึงเห็นด้วยว่าการกลับไปทบทวนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ควรให้หน่วยงานกลางเป็นผู้จัดทำเพื่อความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ
"แม้ต่างประเทศจะมีให้เห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยล่าสุดมีการยกตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นแบบการบริหารจัดการ แต่ต้องไม่ลืมว่าภายใต้บริบทแวดล้อมของสองประเทศ ยังคงมีความแตกต่างในแง่กระบวนการมากพอสมควร ไม่เท่านั้นในแง่ของการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนต่อชุมชน ในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเช่นกัน โดยตามรูปแบบการตั้งกองทุนสำหรับพัฒนาด้านต่างๆ ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่ในเชิงรายละเอียดของการนำกองทุนไปใช้พัฒนา คิดว่าต้องเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง" รศ.ดร.จารุวัตร กล่าว
สอดคล้องกับ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่กล่าวย้ำว่า ในฐานะสถาบันการศึกษาเห็นพ้องถึงความจำเป็นในภาพรวมที่ว่า การสร้างความมั่นคงทางพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าจะสามารถช่วยให้ประเทศชาติ พัฒนาได้ก้าวไกลและไม่เสียงบประมาณจำนวนมากในการนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาจำเป็นต้องเดินหน้าไปพร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จะสามารถช่วยให้การพัฒนาไปในทิศทางที่ยั่งยืนและส่งผลดีต่อทุกฝ่าย ที่ผ่านมา คณาจารย์ และนักศึกษา สจล. ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า รวมไปถึงก่อตั้งศูนย์พลังงงานทดแทนเพื่อศึกษา และคิดค้นรูปแบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดแห่งอนาคตอย่างต่อเนื่อง
นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th