กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
ในขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งอากาศที่ร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้มีโอกาสเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ตามประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูร้อน ซึ่งประกอบด้วย 5 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์ นอกจากนี้ยังมีโรคพิษสุนัขบ้า โรคลมแดด และการป้องกันเด็กจมน้ำ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
จากข้อมูลระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ตั้งแต่ต้นปี 2560 มีรายงานผู้ป่วยทั้ง 5 โรค รวม 1,830 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 1,620 ราย กลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ ผู้สูงอายุ 55 ปีขึ้นไป ร้อยละ 24.69 และอายุ 0-4 ปี ร้อยละ 18.89 รองลงมา คือ โรคอาหารเป็นพิษ 191 ราย โรคบิด 19 ราย ตามลำดับ
สำหรับในช่วงฤดูร้อนปีนี้ นายแพทย์จรัญ จันทมัตตุการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมเตรียมภารกิจในการดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบกับภาวะแล้ง ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ 2.การควบคุมโรคในกรณีถ้ามีการระบาดของโรคติดต่อ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม มีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าไปดำเนินการสอบสวน ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ และ 3.การสื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์ความรู้แก่ประชาชน โดยเน้นประชาชนใน 3 กลุ่มเสี่ยง กล่าวคือ 1.กลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี 2.กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และ 3.กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง เป็นต้น
"สำหรับการป้องกันตนเอง ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ คือ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" ประกอบด้วย 1.กินร้อน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้อ อุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อนรับประทาน 2.ใช้ช้อนกลางตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น 3.ล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หลังจากใช้ห้องส้วม ก่อนปรุงและรับประทานอาหาร รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร และสิ่งปฏิกูลรอบ ๆ บ้านทุกวัน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน และถ่ายอุจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง เพื่อไม่ให้แพร่โรค"
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวอีกว่า ส่วนโรคที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ โรคพิษสุนัขบ้า โรคลมแดด และการป้องกันเด็กจมน้ำ โดยโรคพิษสุนัขบ้า ในปี 2559 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิต 4 ราย โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (rabies) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทุกปี มีพาหะหลักจากสุนัข และแมว ซึ่งอาจติดโรคจากการกัด ข่วน หรือเลียผิวหนังคนมีแผล ที่สำคัญโรคนี้เป็นแล้วตายทุกราย ไม่มียารักษา แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการนำสุนัขทุกตัวไปรับการฉีดวัคซีน และลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัดหรือโดนทำร้าย โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ 5ย ได้แก่ "อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง" กล่าวคือ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข (หาง, ตัว, ขา) หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ หากถูกสุนัขกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจนครบตามที่แพทย์แนะนำ ต้องจำสัตว์ที่กัดให้ได้เพื่อสืบหาเจ้าของและสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ติดตามดูอาการสุนัข 10 วัน และถ้าพบสุนัขนั้นตายก่อน 10 วัน และมีประวัติกัดคนหรือสัตว์อื่น ควรนำหัวส่งตรวจโดยประสานกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พื้นที่ใกล้บ้าน
ส่วนโรคลมแดด เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไปจนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการที่พบเบื้องต้น ได้แก่ อ่อนเพลีย หน้ามืด เป็นลม หากรุนแรงอาจมีอาการตัวร้อนจัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เป็นต้น ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดโรคลมแดด ได้แก่ ทหารที่เข้ารับการฝึกโดยไม่เตรียมร่างกายให้พร้อมต่อสภาพอากาศร้อน นักกีฬาสมัครเล่น ผู้ที่ทำงานในอากาศร้อนชื้น รวมถึงผู้สูงอายุ เด็ก คนอดนอน คนดื่มสุราจัด และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง วิธีป้องกัน ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในสภาพอากาศร้อนดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้ทำงานในร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนาและระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ควรให้การดูแลเด็ก และผู้สูงอายุเป็นพิเศษ
"สุดท้ายเรื่องการป้องกันเด็กจมน้ำ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยกันในช่วงฤดูร้อน เพราะตรงกับช่วงปิดเทอมของเด็ก โดยพบว่าในกลุ่มเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ (1) ในทุกสาเหตุ ทั้งโรคติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ ซึ่งมาตรการที่ต้องยึดไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ"ตะโกน โยน ยื่น" ได้แก่ 1.ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 (2) โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า โดยโยนครั้งละหลาย ๆ ชิ้น (3) ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ โดยไม่ต้องกระโดดลงไปช่วย เพราะจากข้อมูลพบว่าเด็กมักจะจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันครั้งละหลาย ๆ คน เนื่องจากเด็กไม่รู้วิธีการเอาชีวิตรอดในน้ำและวิธีการช่วยเหลือผู้อื่นที่ถูกต้อง นอกจากนี้ หน่วยงานในท้องถิ่นและผู้นำชุมชน ควรจัดการสิ่งแวดล้อมในบริเวณแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยง เช่น จัดหาอุปกรณ์ลอยน้ำ แกลลอนพลาสติก ไม้ เชือก สร้างรั้ว ทำป้ายเตือน และสถานบริการสาธารณสุขมีการให้ความรู้ในเรื่องนี้เช่นเดียวกับการให้วัคซีนแก่เด็ก" นายแพทย์จรัญ จันทมัตตุการ กล่าวย้ำ