กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--mascotcommunication
ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า รพ.กรุงเทพ เผยรูปแบบการรักษา "ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม" ด้วยโปรแกรมที่ออกแบบเฉพาะบุคคล (Customize Service) โดยนำเอาเทคโนโลยีของการสร้างภาพสามมิติมาช่วยในการวางแผนก่อนผ่าตัดเพื่อหาความเหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละราย ร่วมกับเทคนิคการผ่าตัดแบบทะนุถนอมเนื้อเยื่อไม่ให้บอบช้ำ ช่วยทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยและฟื้นตัวไว
ผศ.นพ.สมบัติ โรจน์วิโรจน์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า รพ.กรุงเทพ เปิดเผยว่า "ข้อเข่าเสื่อม" เป็นหนึ่งในความผิดปกติของร่างกาย ที่แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตแต่ก็เป็นต้นเหตุทำให้ผู้ป่วยสูญเสียคุณภาพชีวิตที่ดี "ที่ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า รพ.กรุงเทพ เราพบว่าโรคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่สามารถเกิดได้กับผู้ที่อายุน้อยด้วยเช่นกัน หากเล่นกีฬาหักโหมหรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เราจึงคิดค้นโปรแกรมการรักษาที่ออกแบบเฉพาะบุคคล (Customize Service) เพื่อตอบสนองคนไข้ที่มีสภาวะต่างกัน เบื้องต้นเราจะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ Digital Template ช่วยวางแผนหาขนาดของข้อเข่าเทียมที่เหมาะสม รวมทั้งกระดูกที่จะถูกตัดออกว่าจะหนาบาง เล็กใหญ่ขนาดไหน และต้องเอียงทำมุมเท่าใด โดยเฉพาะกรณีที่มีความวิกลรูปผิดปกติมาก หรือกรณีที่เคยมีกระดูกหัก เคยผ่าตัดมาก่อน จากนั้นใช้เครื่องเอกซเรย์สองแกน Biplane Imaging (EOS) สแกนตั้งแต่กระดูกสันหลังจนถึงปลายเท้าเพื่อสร้างภาพสามมิติออกมาช่วยวางแผนก่อนการผ่าตัด"
"การผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงโดยภายในห้องผ่าตัดจะใช้ระบบ Laminar Air Flow มีอากาศถ่ายเทไหลจากบนลงล่างออกจากห้อง และผนังห้องไม่เก็บฝุ่น รวมถึงชุดผ่าตัดของศัลยแพทย์ที่สวมชุดที่ออกแบบเหมือนชุดอวกาศคลุมตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากลมหายใจของศัลยแพทย์ และเศษของกระดูกที่อาจกระเด็นถึงแพทย์แล้วตกลงไปที่แผลระหว่างผ่าตัดกระดูก สำหรับเหตุผลสำคัญสองข้อที่ทำให้คนไข้เจ็บน้อยและฟื้นตัวไว คือ การผ่าตัดแบบทะนุถนอมเนื้อเยื่อไม่ให้บอบช้ำโดยขนาดของแผลที่พอเหมาะ การใช้เครื่องจี้ไฟฟ้าห้ามเลือดด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency) ซึ่งหล่อด้วยน้ำเกลือ เพื่อไม่ทำให้เนื้อเยื่อรอบข้างถูกทำลาย ช่วยลดการเสียเลือดหลังการผ่าตัด และการบริหารยาลดความเจ็บปวดโดยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังเพื่อไม่ให้เจ็บในระหว่างการผ่าตัด และจัดการความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดด้วย Adductor Canal Block คือ การระงับการรับความรู้สึกที่เส้นประสาทในช่องแอดดั๊กเตอร์ เพื่อลดระดับความปวดโดยจะฉีดยาชาเข้าไปที่เส้นประสาทเหนือเข่า เพื่อให้ยาชาต่อไปแบบช้าๆ อัตโนมัติ ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่กล้ามเนื้อยังทำงานได้" นพ.สมบัติ อธิบาย
"หลังผ่าตัดผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะผู้สูงวัยอาจจะอยู่ที่ห้องพักฟื้นหนึ่งคืน จากนั้นจะย้ายมาอยู่ห้องปกติ ซึ่งจะทำการฟื้นฟูกล้ามเนื้อเข่าหลังผ่าตัดโดยมีทีมกายภาพดูแลอย่างใกล้ชิด และการทำกายภาพด้วยเครื่อง Alter G (Anti Gravity Treadmill) หรือ ลู่วิ่งต้านแรงโน้มถ่วง เครื่องมือกายภาพบำบัดที่เมื่อคนไข้เดินเข้าไปแล้ว ระบบจะทำการอัดอากาศเข้าไปเพื่อพยุงตัวให้ลอยขึ้น เสมือนเดินอยู่ในลูกบอลลูน คนไข้จึงกล้าก้าวเดินเพราะไม่เจ็บขณะลงน้ำหนัก นักกายภาพบำบัดจะปรับการต้านแรงโน้มถ่วงจากมากไปหาน้อยเพื่อให้ผู้ป่วยปรับตัวกับการรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทีละน้อยได้ ช่วยให้ฟื้นตัวเร็ว ภายในวันแรกก็สามารถขยับเดินได้ เมื่อครบ 4 วันตามโปรแกรม ผู้ป่วยจะสามารถเดินกลับบ้านใช้ชีวิตประจำวันได้และทำกายภาพบำบัดจนสามารถออกกำลังกายอย่างตีกอล์ฟ ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำได้"
"ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด เราเน้นรักษาตามระยะของโรค ถ้ายังสามารถใช้เข่าในสภาวะเข่าเสื่อมที่ยังไม่รุนแรงได้ ก็จะแนะนำให้เปลี่ยนวิธีการใช้งาน เช่น ห้ามนั่งคุกเข่า หรือนั่งยองๆ และควรเลือกเล่นกีฬาเบาๆ อย่าง ว่ายน้ำ เดินเร็ว ขี่จักรยาน เวลานั่งทำงานปรับที่นั่งให้สูงเพื่อให้เข่าได้เหยียดเต็มที่ หากต้องนั่งนานๆ ควรพักเข่าด้วยการเหยียดเข่าตรงในท่านั่งแล้วนับ 1-10 เพื่อให้กล้ามเนื้อหน้าขาแข็งแรงขึ้นทำประมาณ 20-30 ครั้ง ต้องควบคุมน้ำหนัก ให้พยายามขึ้นลงบันไดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ถ้าข้อเข่าเสื่อมที่ยังเป็นไม่มากเราสามารถรักษาด้วยการทานยาตามอาการ และการฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมเพื่อช่วยลดการเสียดสีของข้อเข่า หรือฉีดยาสเตียรอยด์ในปริมาณที่จำกัดได้ แต่ถ้าการรักษาที่ว่ามาทั้งหมดไม่ได้ผลก็ต้องเข้ารับการผ่าตัด" นพ.สมบัติ กล่าวทิ้งท้าย
นับว่าเป็นความก้าวหน้าในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่ทำให้ทั้งผู้ป่วยทั้งวัยกลางคนและผู้สูงอายุกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่า โรงพยาบาลกรุงเทพ