กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์
กระทรวงการคลัง เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ National e-Payment โครงการขยายการใช้บัตร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างคณะอนุกรรมการคัดเลือกและกำกับดูแลผู้ให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และผู้มีสิทธิ์ให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 2 รายได้แก่ กลุ่ม Consortium และกลุ่มกิจการการค้าร่วมโครงการอีเพเม้นท์ โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย และกรมบัญชีกลาง สองหน่วยงานผู้กำกับดูแลการคัดเลือกร่วมเป็นสักขีพยาน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า "การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment เป็นงานที่กระทรวงการคลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากการชำระเงินที่สะดวก ปลอดภัย และมีต้นทุนต่ำ ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานของทุกภาคส่วน ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โครงการย่อยภายใต้ National e-Payment มีทั้งหมด 6 โครงการ ซึ่งมีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับโครงการที่ 1 และ 2 ได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลและผลักดัน ซึ่งบริการพร้อมเพย์ของโครงการที่ 1 ได้เปิดให้บริการไปแล้วในเดือนมกราคม หากจะกล่าวว่าพร้อมเพย์เป็นการชำระเงินแบบ Non-card โครงการที่ 2 จะเป็นการชำระเงินแบบ Card Payment
โครงการขยายการใช้บัตรจะเริ่มอย่างเป็นทางการในวันนี้ โดยมีการลงนามใน MOU เพื่อกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ในขั้นตอนของการคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ดำเนินการ ได้มอบหมายให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกมากำหนดแนวทางและพิจารณาผู้ที่มีความเหมาะสม เพื่อให้กระบวนการมีความโปร่งใสและสามารถพิจารณาคุณสมบัติต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งท่านปลัดกระทรวงการคลังได้มาเป็นประธานคณะอนุกรรมการคัดเลือกดังกล่าว โดยสามารถดำเนินการคัดเลือกได้แล้วเสร็จตามที่คาดหวัง และกลุ่มผู้ที่ได้รับการคัดเลือกก็จะเริ่มต้นวางอุปกรณ์ หรือเครื่อง EDC ทันที
โครงการที่ 2 ให้ความสำคัญกับ 2 สิ่งไปพร้อมกัน คือ ร้านค้ามีเครื่องรับบัตรทั่วถึงด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และประชาชนใช้บัตรเดบิตในการซื้อสินค้าหรือชำระเงินค่าบริการต่าง ๆ มากขึ้น โดยมุ่งเน้นให้มีการกระจายเครื่องรับบัตรหรือเครื่อง EDC ไปทั่วประเทศ ไม่กระจุกตัวอยู่ในเฉพาะเมืองใหญ่ ต่อไปร้านค้าเล็ก ๆ หรือหน่วยราชการที่รับเงินก็จะสามารถติดเครื่องรับบัตรเดบิตได้โดยมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงมาก รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บัตรเดบิตเพื่อจับจ่ายซื้อของในชีวิตประจำวัน ซึ่งคนส่วนใหญ่มีกันอยู่แล้ว แต่ไม่เคยใช้ เพราะคิดว่าเป็นบัตร ATM เอาไว้กดเงินสดเพียงอย่างเดียว
ปัจจุบัน คนไทยมีบัตรเดบิตจำนวน 54 ล้านใบ และมีเครื่องรับบัตร 4 แสนกว่าเครื่อง แต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศแล้ว จำนวนเครื่องรับบัตรของไทยยังถือว่าน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วอยู่ถึง 4-5 เท่าตัว รวมทั้งปริมาณการใช้บัตรเดบิตในการรูดซื้อสินค้าและบริการยังไม่มากนัก เราหวังว่าโครงการนี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้บัตรเดบิต ที่คนส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยกันอยู่แล้วมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสะดวกมากขึ้น ร้านค้ามีช่องทางรับชำระเงินในการทำธุรกิจด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และประเทศสามารถลดต้นทุนการใช้เงินสดลงได้มาก
นอกจากนี้ ในระยะต่อไปจะสามารถต่อยอดการใช้เครื่องรับบัตรกับบริการอื่นได้ เช่น โครงการตั๋วร่วม และบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น
"สุดท้ายนี้ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ทั้งผู้ให้บริการทั้ง 2 กลุ่ม ที่ได้เสนอตัวเข้ามาเป็นผู้วางอุปกรณ์ ซึ่งพวกเรารู้ดีว่ามีงานหนักรออยู่ข้างหน้าที่จะต้องทำให้ได้ตามข้อตกลง ท่านคณะอนุกรรมการคัดเลือกที่ได้ช่วยให้กระบวนการดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อย และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำกับดูแลและผลักดันในหลายเรื่องที่สำคัญ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนด้วยดี และเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของประเทศ ช่วยสนับสนุนให้เราก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม" นายอภิศักดิ์กล่าวเสริม
หลังจากติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว รัฐบาลจะกระตุ้นการใช้บัตรและชำระเงินในระบบอีเพย์เมนต์ โดยจัดแคมเปญแจกรางวัล ให้ผู้ใช้และร้านค้ามีสิทธิลุ้นโชคจากการชำระเงินผ่านเครื่องรับบัตรและตู้ ATM และจะแจกรางวัลเป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย. 60 (สำหรับผู้ที่ใช้บริการในเดือน พ.ค.) เป็นรางวัลมูลค่าเดือนละ 7 ล้านบาท รวมมูลค่ารางวัลเป็นเงิน 84 ล้านบาท
ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ได้ผลักดันแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment ซึ่งมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับนั้น ในส่วนของโครงการที่ 2 คือ โครงการขยายการใช้บัตร ได้ก้าวมาถึงจุดสำคัญ คือ การคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ให้บริการวางอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในวันนี้จะมีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง และจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
โครงการขยายการใช้บัตร ถือเป็นภารกิจสำคัญภายใต้แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการชำระเงินด้วยการใช้บัตร หรือ Card Payment โดยมีเป้าหมายในการกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่าเครื่อง EDC แก่ร้านค้าและหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ รวมประมาณ 560,000 ราย คณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคัดเลือกและกำกับดูแลผู้ให้บริการวางอุปกรณ์ฯ เป็นผู้คัดเลือกผู้มีสิทธิ์ดำเนินการ ซึ่งคณะอนุกรรมการคัดเลือก ประกอบด้วยผู้แทนจาก กระทรวงการคลัง
กระทรวงพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยได้มีการออกประกาศ TOR ให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอ ซึ่งเปิดกว้างให้ทั้ง Bank และ Non-Bank สามารถยื่นข้อเสนอเข้ามาได้ โดยมีปัจจัยในการพิจารณาที่สำคัญ 4ประการ คือ
(1) การกำหนดค่าธรรมเนียม
(2) แผนงานการวางอุปกรณ์
(3) ประสบการณ์และความพร้อมในการดำเนินงาน
(4) มาตรการในการลดต้นทุนของร้านค้า / หน่วยงานภาครัฐ และการส่งเสริมการใช้บัตรเดบิต
"คณะอนุกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาแล้วว่าทั้ง 2 ราย มีคุณสมบัติเหมาะสม และมีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ จึงมีมติคัดเลือกผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย คือกลุ่ม Consortium ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) และกลุ่มกิจการค้าร่วมโครงการอีเพเม้นท์ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย ได้ยื่นข้อเสนอสำคัญ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและร้านค้า เช่น ลดค่าธรรมเนียมการรับบัตรเดบิตจาก 1.5 – 2.5% ของมูลค่าเงินที่ชำระ เป็นไม่เกิน 0.55% และไม่เก็บค่าเช่าและค่าติดตั้งอุปกรณ์ฯ โดยอาจเก็บค่ามัดจำเพื่อป้องกันอุปกรณ์เสียหาย ซึ่งร้านค้าจะได้คืนเมื่อยกเลิกการใช้บริการ"
นอกจากนี้ ภาครัฐก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือร้านค้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ โดยให้ร้านค้าสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการรับบัตร (MDR) ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ 2 เท่า จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้ จะช่วยลดภาระของร้านค้าในการรับบัตรได้มาก
ภายหลังพิธีลงนามตามข้อตกลงในวันนี้ ผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย จะเริ่มทยอยวางอุปกรณ์ฯ ทันที โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2561" ดร.สมชัย กล่าวปิดท้าย