กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการให้สิทธิสำรวจแร่ทางธรณีวิทยาในขั้นรายละเอียด โดยกำหนดเงื่อนไขการเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจแร่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อน และต้องทำการฝังกลบพร้อมฟื้นฟูพื้นที่หลังเสร็จสิ้นการสำรวจ
นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ชี้แจงกรณีปรากฏเป็นข่าวว่า กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร คัดค้านการสำรวจแร่โพแทชในพื้นที่ พร้อมทั้งยื่นหนังสือที่อำเภอวานรนิวาสขอให้ชะลอการเข้าเตรียมพื้นที่สำรวจของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ที่อาจละเมิดสิทธิชุมชนและสร้างข้อกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทชให้แก่บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่รวม 116,875 ไร่ อาชญาบัตรพิเศษมีอายุ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 สิ้นอายุวันที่ 4 มกราคม 2563 โดยได้กำหนดเงื่อนไขการเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจแร่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อน การอนุญาตอาชญาบัตรเป็นเพียงการให้สิทธิในการสำรวจแร่เท่านั้น โดยผู้ได้รับอนุญาตยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หากบริษัทฯ เข้าพื้นที่เพื่อการสำรวจแร่โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตอาชญาบัตร และเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษดังกล่าว เป็นการให้สิทธิสำรวจแร่ทางธรณีวิทยาในขั้นรายละเอียด โดยจะมีการขุดหรือเจาะสำรวจในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งใช้เนื้อที่เพียงเล็กน้อยเพื่อนำข้อมูลมาประเมินศักยภาพแหล่งแร่ว่ามีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์หรือไม่ และต้องทำการฝังกลบพร้อมกับฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังเสร็จสิ้นการสำรวจแล้ว จึงไม่ได้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวเป็นการอนุญาตเพื่อการสำรวจแร่ตามปกติทั่วไป มิได้เป็นสัญญาสำรวจและผลิตแร่โพแทช และมิได้เป็นข้อผูกพันว่าจะต้องได้รับอนุญาตประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หากการสำรวจพบว่า พื้นที่มีศักยภาพแร่ที่มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ บริษัทฯ ต้องยื่นขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองซึ่งต้องดำเนินการตามระเบียบ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการขอประทานบัตรต้องผ่านความเห็นชอบจากองค์การบริหารส่วนตำบลและชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ที่จะขอทำเหมืองด้วย