กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์
ด้วยนวัตกรรมล่าสุดสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน
ทีม PDvice นิสิตศศินทร์ รับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 นำนวัตกรรมเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันและผู้สูงอายุทั่วโลกที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเซลล์ประสาทหลากหลายรูปแบบ เข้าประกวดแผนธุรกิจระดับโลก The mai Bangkok Business Challenge®@ Sasin 2017
นางสาวอภิษฎา พัฒนานิตย์สกุล ผู้ร่วมก่อตั้งทีม PDvice ซึ่งเป็นนิสิต สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยถึงนวัตกรรม ของทีม PDvice ที่คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันแผนธุรกิจระดับโลก The mai Bangkok Business Challenge®@ Sasin 2017 และรับถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 กล่าวว่า เป็นการนำเสนอเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันและผู้สูงอายุทั่วโลกที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเซลล์ประสาทหลากหลายรูปแบบและระดับความรุนแรง เป็นเครื่องมือตรวจวินิจฉัยอาการสั่น คิดค้นโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ และทีมนักวิจัยแห่งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้พัฒนาคิดค้นเครื่องมือนี้ขึ้นเพื่อช่วยทำให้การวินิจฉัยโรคพาร์กินสันมีความแม่นยำยิ่งขึ้น ผลงานนี้นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการแพทย์ เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรับการรักษาได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที ที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาหลายปีได้มีการทดลองและใช้จริงกับคนไข้มากกว่า 300 รายต่อปีที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งความแม่นยำในการวินิจฉัยยังไม่มีความผิดพลาด และนวัตกรรมนี้เป็นเครื่องมือวินิจฉัยโรคพาร์กินสันที่มีความแม่นยำ รวดเร็ว ง่ายต่อการใช้และราคาถูกที่สุดที่มีในปัจจุบัน เรามีพันธกิจที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตประจำวันของผู้ป่วย พร้อมทั้งช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลก
นางสาวอภิษฎา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับเหตุผลที่เลือกนวัตกรรมดังกล่าวในการแข่งขันเพราะทีม PDvice เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราอยู่ในยุคที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย มีประชากรที่อายุมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงคุณพ่อ คุณแม่ และคนรอบๆตัวเรา จึงคิดว่าการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำถูกต้อง จะส่งผลถึงการรักษาที่เหมาะสมมากที่สุด และทางทีมเห็นถึงศักยภาพของนวัตกรรมชิ้นนี้ ที่จะตอบโจทย์ความต้องการในตลาด มีโอกาสทางการตลาดขนาดใหญ่รองรับ และสร้างเป็นมูลค่าได้สูง อีกทั้งเราเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถของทีมนักวิจัย ว่าจะสามารถพัฒนานวัตกรรมตัวนี้ และตัวอื่นๆในอนาคต ให้เป็นสินค้าที่เพิ่มคุณค่าได้ทั้งทางธุรกิจและทางสังคม นอกจากนี้การต่อยอดธุรกิจดังกล่าว ตัวนวัตกรรมในตอนนี้มีความพร้อมที่จะออกสู่ตลาด เราคาดว่าจะสามารถผลักดันและวางตลาดผลิตภัณฑ์ PDEX สู่ตลาดได้ภายในช่วงต้นปี 2561 นี้ แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สิ่งที่เราจะต้องเร่งดำเนินการก็คือการแสวงหาเงินลงทุนจากนักลงทุนที่สนใจและเห็นศักยภาพของบริษัทเรา เพื่อนำทุนที่ได้มาใช้จ่ายทางด้านการตลาด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการวางตลาดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ดังกล่าว ขณะนี้มีนักลงทุนสนใจและติดต่อเข้ามามากมายทั้งจากในประเทศและนอกประเทศ ทางทีมอยู่ในระหว่างพิจารณาทุกข้อเสนออย่างถี่ถ้วนและปรับแผนธุรกิจให้ทราบถึงความจำเป็นทางการเงินที่แท้จริง ในส่วนของการต่อยอด ทางทีมนักวิจัยได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมอื่นๆนอกเหนือจากเครื่องมือวินิจฉัยโรคตัวนี้ อาทิเช่น เครื่องมือติดตามอาการสั่นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ซึ่งทางเราเห็นว่าเป็นนวัตกรรมที่มีความต้องการในตลาด และสามารถวางตลาดได้เช่นเดียวกัน
สำหรับรางวัลจากการแข่งขัน ทีม PDvice ได้รับทั้งหมด 3 รางวัลจากการแข่งขันในปีนี้ 1) รางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 2) รางวัลชนะเลิศ จัดนิทรรศการยอดเยี่ยม Kiatnakin Phatra Best Venture Exhibit Award 3) รางวัลรองชนะเลิศ นวัตกรรมเทคโนโลยียอดเยี่ยม the Houston Technology Center Asia Innovation Award ซึ่งในส่วนของรางวัลด้านนวัตกรรมนั้น ต้องขอยกความดีความชอบให้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์รุ่งโรจน์ พิทยศิริ และทีมนักวิจัยแห่งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มความเคลื่อนไหวผิดปกติ แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมนี้จนสำเร็จ ตัวนวัตกรรมเองได้รับความสนใจอย่างมหาศาลจากผู้เข้าชมงานนิทรรรศการระหว่างวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมชมงาน กรรมการ และบรรดาผู้เข้าแข่งขันได้เข้ามาสอบถามและทดสอบการวินิจฉัยด้วยความสนใจอย่างยิ่ง สำหรับรางวัลชนะเลิศนั้น มาจากความพยายาม มุ่งมั่น ตั้งใจของสมาชิกทีม PDvice ทุกคน ที่ร่วมกันออกแบบและพัฒนาแผนธุรกิจที่มีความชัดเจนอย่างมาก จนสามารถสร้างความประทับใจให้กรรมการและนักลงทุนได้สำเร็จ
นายวรปรัชญ์ ชุตินธรานนท์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งทีม PDvice ซึ่งเรียนหลักสูตร Dual MBA and Master of Engineering (SCE) Program สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ เปิดเผยว่า การที่เข้ามาเรียนโปรแกรม SCE ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทางทีมประสบความสำเร็จในครั้งนี้ เนื่องจากความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ อุตสาหกรรมนั้น เป็นความรู้พื้นฐานที่จำเป็นโดยเฉพาะการควบคุมต้นทุนสำหรับธุรกิจ Start Up อีกทั้งยังทำให้สามารถวางแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการขยายธุรกิจ (Scale-up) ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งทีมของ PDvice ผมคิดว่าการที่เราเข้าใจถึง Business Model ทั้งในระดับกลยุทธ์และปฏิบัติการนั้น ทำให้สามารถวางแผนการเงินได้รัดกุมยิ่งขึ้นและเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุน ความรู้เหล่านี้ได้จากการเรียนหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งสำคัญมากสำหรับ Start Up ในขั้น Seeding Fund
อาจารย์ที่ปรึกษาทีม PDvice คือ อาจารย์ นิกม์ พิศลยบุตร ตำแหน่ง Director, Sasin Center for Sustainability Management (SCSM), Co-Founder/Faculty Advisor, Sasin Entrepreneurship Center (SEC), Faculty-Management, Sasin Graduate Institute of Business Administration of Chulalongkorn University มีส่วนสำคัญในการให้คำแนะนำต่างๆ ในการแข่งขันครั้งนี้ สำหรับสมาชิกทีมประกอบด้วย น.ส. ดลหทัย หวังมงคลเลิศ น.ส. อภิษฎา พัฒนานิตย์สกุล น.ส. วริฏฐา ศิวเวชช และนายวรปรัชญ์ ชุตินธรานนท์ ทั้ง 4 จบการศึกษาจากรุ่น MBA Class of 2015 จากศศินทร์