กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--กรมประมง
"ปลานิล" จัดเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สามารถเลี้ยงได้ง่าย เจริญเติบโตเร็ว มีรสชาติดี และเป็นที่นิยมบริโภคกันอย่างกว้างขวาง จากคุณสมบัติของปลานิลซึ่งเลี้ยงง่าย อีกทั้งกรมประมงได้มีการส่งเสริมด้านการปรับปรุงพันธุ์ปลาเพื่อให้ได้ปลานิลที่มีลักษณะสายพันธุ์ ที่ดีขึ้น อาทิ การเจริญเติบโต ปริมาณความดก ของไข่ ผลผลิตและความต้านทานโรค ฯลฯ ส่งผลให้ปัจจุบัน
มีผู้เลี้ยงปลานิลกันเป็นจำนวนมาก
นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผลผลิตปลานิลจากการเพาะเลี้ยงอยู่ที่ 197,600 ตัน/ปี มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจำนวน 282,857 ราย กระจายอยู่ทั่วทุกภาค ของประเทศไทย และขณะนี้ในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากราคาปลานิลตกเสี่ยงต่อการประสบปัญหาขาดทุน อีกทั้งเกษตรกรรายย่อยขาดข้อมูลความรู้และการจัดการด้านการตลาด ส่งผลให้ขาดอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ภาครัฐจึงจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือและกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการบริหารการตลาดเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว อีกทั้งทางรัฐบาลมีนโยบายในการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันผลิตเป็น "แปลงใหญ่" ทั้งด้านเกษตรและประมงเพื่อร่วมกันพัฒนา ประสิทธิภาพการผลิต และร่วมกันจัดการด้านการตลาดโดยร่วมมือกับภาคเอกชนในลักษณะ "ประชารัฐ"
โดยมุ่งเน้นผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานลดต้นทุนและร่วมกันบริหารจัดการด้านการตลาด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
นายสนธิพันธ์ ผาสุขดี ผอ. กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กล่าวเพิ่มเติมว่า อ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีพื้นจำนวน 356,600 ไร่ เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จจากการ "รวมกลุ่มกันของเกษตรกร" และการร่วมมือกันระหว่างกรมประมง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำ
ในการช่วยกันพัฒนาผลผลิตด้านการประมงอย่างยั่งยืน เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนกระชังเลี้ยง
ปลานิลในปี พ.ศ. 2550 จำนวน 100 กระชัง เป็น 14,000 กระชังในปี พ.ศ. 2560 เพิ่มขึ้นกว่า 100 เท่าภายในระยะเวลา 10 ปี ผลผลิตกว่า 14,000 ตันต่อปี โดยควบคุมจำนวนกระชังให้การใช้พื้นที่รวมกันไม่เกินร้อยละ 0.25 ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำทั้งหมด พร้อมทั้งกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ใช้ในการเลี้ยงปลาในกระชังอย่างชัดเจนใน อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมได้ให้คำแนะนำและตรวจรับรองผลผลิตปลานิล ให้เป็นไปตามมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ (GAP) ปลานิลในอ่างเก็บน้ำดังกล่าวจึงเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
นอกจากการส่งเสริมและให้คำแนะนำในการเพาะเลี้ยงปลานิลจากทางกรมประมงแล้วนั้น ทางด้านตลาดเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังได้รับการสนับสนุนของบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์น้ำในรูปแบบ เกษตรพันธสัญญา หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง (contract farming) กล่าวคือ ระบบการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืช ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกร หรือเจ้าของฟาร์ม กับคู่สัญญา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า "ราคาประกัน" และจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญา สำหรับการผลิตสัตว์น้ำในรูปแบบนี้ได้เข้ามามีบทบาทในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาวช่วงประมาณ ปี พ.ศ. 2549 โดยบริษัทจะจัดเตรียมลูกปลานิลพันธุ์ดี คำแนะนำเรื่องการควบคุมโรค การให้สินเชื่อตลอดการเลี้ยง และรับซื้อปลานิลมีชีวิตขนาด 800 - 1,000 กรัม/ตัว ที่ราคา 59 บาท/กิโลกรัม ซึ่งหากเทียบกับราคารับซื้อปลานิลในท้องถิ่นจะอยู่ที่ประมาณ 45 - 50 บาท/กิโลกรัม ด้วยการส่งเสริมจากกรมประมงและหลายภาคส่วน อีกทั้งการรวมกลุ่มของเกษตรกรส่งผลให้ในปัจจุบันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังในอ่างเก็บเขื่อนลำปาวจึงมีอาชีพที่มั่นคงเพราะ "ที่นี่มีประกันราคาไม่มีตก"