กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--ม.ธรรมศาสตร์
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานพระวโรกาส ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเฝ้า เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ วันพุธที่ 13 กันยายน 2543 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำหนดพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ (สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ) แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในวันพุธที่ 13 กันยายน 2543 เวลา 16.30 น. ณ พระตำหนักใหม่ สวนจิตรลดา
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถ ในสรรพวิทยาการด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นที่ประจักษ์แจ้ง และได้รับการยกย่องเชิดชูพระเกียรติยศ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทรงประกอบพระกรณียกิจ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นอเนกประการ อันนำมาซึ่งความก้าวหน้า เป็นประโยชน์สุขแก่ พสกนิกร และวงการวิทยาศาสตร์ไทย อย่างแท้จริง ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทอง ไอน์สไตน์ จากโครงการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ ซึ่งนับเป็นบุคคลที่ 3 ของโลก นอกจากนี้ ทรงเป็นชนชาติเอเชีย พระองค์แรก ที่ราชสมาคมเคมี ของสหราชอาณาจักร ขอพระราชทาน กราบทูลเชิญ ให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ เป็นต้น
ในฐานะที่ทรงเป็น นักวิทยาศาสตร์และนักพัฒนา พระองค์ทรงตระหนักถึง บทบาทของนักวิทยาศาสตร์ ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ ตลอดจนข้อจำกัดต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยให้ นักวิทยาศาสตร์ไทย ที่มีความรู้ความสามารถ ทำงานได้อย่างมี ประสิทธิภาพ จึงทรงสถาปนา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้น โดยมีพระประสงค์ให้เป็น ศูนย์รวมแห่งความร่วมมือร่วมใจของนักวิทยาศาสตร์ ในการผลิตผลงาน อันเป็นประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ของประเทศ ทรงมุ่งมั่นให้เป็นศูนย์กลาง ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ทั้งให้เป็นสื่อกลาง ในการระดมแหล่งทุน ตลอดจนข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นต่อการวิจัย โดยในระยะแรก พระองค์ทรงวางแนวทาง การศึกษาวิจัยไว้ 3 แนวทางคือ การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มมูลค่า ของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และผลผลิตจากการเกษตร การศึกษาวิจัย เพื่อหาแนวทางป้องกัน และบริหารจัดการเกี่ยวกับสารเคมี ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และการศึกษาเกี่ยวกับ พยาธิชีววิทยาของโรคต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ เป้าหมายสูงสุด ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้คือ การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชนชาวไทย นอกจากพระกรณียกิจของพระองค์ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ได้กล่าวแล้ว ยังมีโครงการด้านสุขภาพอนามัยที่สำคัญๆ หลายโครงการ ที่ได้ทรงริเริ่ม เพื่อหน่วยงานอื่นๆ ให้ความสนใจ และดำเนินการต่อไป ได้แก่ โครงการต่อต้านโรคเอดส์ โครงการป้องกันและควบคุม โรคพิษสุนัขบ้า โครงการเร่งรัด การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค และโครงการก่อตั้ง ศูนย์วิจัยศึกษา และบำบัดโรคมะเร็ง เป็นต้น
ด้วยพระปรีชาสามารถ อันมากมายดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีมติทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ (สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ) แด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ตามวันเวลาข้างต้น--จบ--
-นศ-