(ต่อ 4) บัวนา วิสต้า อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิใจเสนอภาพยนตร์แอนิเมชั่นคลาสสิคตลอดกาลของวอลท์ ดิสนีย์พิค "Beauty and the Beast "

ข่าวทั่วไป Friday December 7, 2001 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ธ.ค.--บัวนา วิสต้า อินเตอร์เนชั่นแนล
งานสร้างชีวิตแก่ตัวละครอื่นๆ
สำหรับเบลล์นั้น สองซูเปอร์ไวส์ซิ่งแอนิเมเตอร์ เจมส์ แบ๊กซ์เตอร์ กับ มาร์ค เฮนน์ ต้องการสร้างตัวละครที่แตกต่างจากนางเอกตามขนบดิสนีย์ทั่วๆไป
"ในด้านกายภาพ เราพยายามทำให้เธอดูคล้ายชาวยุโรป ทั้งด้วยริมฝีปากเอิบอิ่ม, คิ้วเข้ม และดวงตาเล็กกว่าแอเรียลเล็กน้อย" แบ๊กซ์เตอร์อธิบาย "นอกจากนั้นเธอยังอายุมากกว่าแอเรียลนิดหน่อยและก็เข้าใจโลกมากกว่าเพราะเธออ่านหนังสือตลอดเวลา เราพยายามทำให้การเคลื่อนไหวของเธอดูสมจริงไม่ว่าจะในยามเดินธรรมดาๆหรือเต้นรำกับอสูรในฉากห้องบอลรูม"
ในฉากหลังที่แบ๊กซ์เตอร์พูดถึงนั้น เขาเป็นผู้วาดทั้งเบลล์และอสูรเพราะตัวละครทั้งคู่ต้องเกี่ยวโยงกัน เขาศึกษาจากฟุตเตจนักเต้นตัวจริงและถึงกับไปเข้าเรียนเต้นวอลท์ซด้วยตัวเองเพื่อให้เกิดความเข้าใจท่วงท่าของมันมากยิ่งขึ้น
เฮนน์ผู้เคยดูแลงานแอนิเมชั่นของตัวแอเรียลและนางเอกคนอื่นๆเช่น จัสมิน กับ มู่หลาน พบว่าเบลล์เป็นตัวละครที่ท้าทายอย่างยิ่ง "ต้องนับว่าเธอเป็นงานยากสำหรับผมเพราะเธอมีความสมจริงและมีระดับอารมณ์มากกว่าคนอื่นๆ" เฮนน์กล่าว "ตัวละครแฟนตาซีอย่างเงือกน้อยนั้นเปิดโอกาสให้เราเล่นอะไรๆได้เต็มที่ แต่เมื่อตัวละครของเรามีความเป็นมนุษย์จริงๆและเดินบนสองขาจริงๆ คนดูทุกคนก็ย่อมคาดหวังถึงความสมจริงและเราก็ต้องทำให้เธอดูน่าเชื่อมากๆด้วย หนังจึงจะประสบความสำเร็จได้"
วูลเวอร์ตัน ผู้เขียนบท มองว่าเบลล์เป็นหญิงสาวที่ "เข้มแข็ง ฉลาด และกล้าหาญมาก เธอยอมแลกอิสรภาพของตัวเองเพื่อช่วยพ่อ ทั้งที่มันเป็นสิ่งซึ่งเธอต้องการมาตั้งแต่หนังเปิดฉาก และเพราะเธอเป็นนักอ่านตัวยง เธอจึงมีมุมมองต่อชีวิตที่เด่นชัดและไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงผู้ชายเลย"
ความท้าทายของแอนิเมเตอร์ แอนเดรียส์ เดจา ก็คือ การทำให้ตัวละครแกสต็องเป็นชายหนุ่มรูปงามน่าสนใจ ขณะที่ก็หลีกเลี่ยงความตื้นเขินซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอกับตัวละครมนุษย์หน้าตาดีในอดีต
"ผมพยายามรักษาระดับการแสดงออกทั้งหมดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเยาะเย้ยถากถาง, ความหยาบเถื่อน หรือความกล้าแสดงออกอันเป็นคุณสมบัติที่ตัวละครชายหน้าตาดีทั้งหลายไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำมากนัก" เดจากล่าว "ผมอยากให้แกสต็องเป็นตัวละครที่มีมิติแบบที่คนดูจะรู้สึกเข้าถึงได้เช่นกัน"
การค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับตัวละครอย่างแกสต็องไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลยสำหรับเดจา "ในลอสแอนเจลิสมีผู้ชายหน้าตาดีที่หลงใหลตัวเองอยู่เต็มไปหมด" เขาบอก "คุณเห็นคนแบบนี้ได้ทั่วไป คนที่ชอบยืนคลั่งไคล้ชื่นชมตัวเองหน้ากระจกเพื่อสำรวจทรงผมและอะไรๆว่าเข้าที่เข้าทางดีแล้วหรือยัง ผมว่าสนุกดีที่ได้สังเกตคนพวกนี้และเลือกเอาทัศนคติบางส่วนมาใส่ในตัวแกสต็อง"
ทีมซูเปอร์ไวส์ซิ่งแอนิเมเตอร์วางโจทย์สำหรับตัวละครเครื่องใช้ในปราสาทไว้ว่า จะต้องสามารถแสดงบุคลิกของตัวเองออกมาได้มากขึ้น เพราะไม่บ่อยนักที่คนดูจะได้เห็นกาน้ำชา, เชิงเทียน หรือนาฬิกาเหนือเตาผิงมีบุคลิกส่วนตัวมาก่อน
สำหรับ นิค ราเนียรี ซึ่งชอบการได้ทำงานกับตัวละครแนวขำขันมากกว่าแนวสมจริงลึกซึ้งด้านอารมณ์แล้ว การวาดลูมีแอร์นับเป็นภารกิจที่ถูกอกถูกใจอย่างยิ่ง เขาออกแบบตัวละครตัวนี้ให้มีความเป็นการ์ตูนมากขึ้นด้วยเพิ่มขอบรอบๆส่วนหัว, ทำให้ส่วนจมูกดูเป็นโครงขึ้น และเน้นบริเวณแผ่นอก รวมทั้งใช้กิ่งก้านของเชิงเทียนมาเป็นแขนขาซึ่งช่วยให้มันสามารถแสดงท่าทางได้มากขึ้นด้วย
"ผมมีอิสระมากทีเดียวในการวาดตัวละครตัวนี้เพราะไม่มีใครรู้ว่าข้าวของเครื่องใช้ควรเคลื่อนไหวยังไงบ้าง" ราเนียรีกล่าว "หลักคร่าวๆก็มีแค่ว่า คุณสามารถเล่นกับวัตถุอะไรก็ได้ขอแค่ให้มันมีน้ำหนักและปริมาตร จะยืดจะบีบมันอย่างไรก็ได้ตามต้องการ ส่วนที่ยากที่สุดของงานก็คือ ทำให้ลูมีแอร์ดูงามสง่าขณะกำลังเต้นในเพลง 'Be Our Guest' เพราะการทำให้เขายกแข้งยกขาด้วยฐานเชิงเทียนโดยที่ดูดีด้วยนั้น ต้องอาศัยการทดลองและการควบคุมไม่น้อย"
การวาดนาฬิกาค็อกซ์เวิร์ธนับเป็นงานที่สนุกสนานไม่เบาสำหรับ วิลล์ ฟินน์ แม้ว่าในช่วงแรกๆเขาจะไม่เต็มใจนักก็ตาม "ค็อกส์เวิร์ธเป็นตัวละครที่น่าขบขันมากๆ" ฟินน์กล่าว "เขามีบุคลิกประเภทเคร่งเครียดกับอะไรซักอย่างอยู่ตลอดเวลา ตอนแรกๆผมคิดว่าคงยากมากที่จะทำให้เขาเดินบนเท้าเล็กจ้อยทั้ง 4 ข้างนั่น แต่ส่วนใหญ่แล้วเขาก็ใช้วิธีกระโดดเด้งดึ๋งแทนเพราะไม่มีความมั่นใจในขนาดเล็กจิ๋วของตน เดวิด อ๊อกเดน สเตียร์สช่วยสร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นใหม่ได้อย่างดีเยี่ยมด้วยวิธีพากย์และด้นสดของเขา เขาจึงสมควรได้รับเครดิตเป็นพิเศษ"
ดนตรี
Beauty and the Beast ฉบับฉายจอใหญ่ มีเพลง 7 เพลงจากฝีมือการแต่งของทีมเจ้าของออสการ์อย่าง อลัน เมนเคน กับ โฮเวิร์ด แอชแมน ผู้ล่วงลับ ทั้งสองเข้ามามีส่วนร่วมกับหนังตั้งแต่แรกและมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อโครงสร้างสุดท้ายของเรื่อง ผลงานของพวกเขาสะท้อนถึงความลุ่มลึกและความโดดเด่นของสิ่งที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถประสบความสำเร็จในสื่อภาพยนตร์ได้บ่อยครั้งนัก
หลังจากทีมงานตัดสินใจในช่วงปลายปี 1989 ว่าจะทำ Beauty เป็นหนังเพลง พวกเขาก็เลือกไปขอความช่วยเหลือจาก โฮเวิร์ด แอชแมน โดยทั้งผู้อำนวยการสร้าง, ผู้กำกับ และผู้เขียนบท ไปพบแอชแมนหลายครั้งในช่วงหลายเดือนนั้นเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการวางโครงสร้างของเรื่อง
"โฮเวิร์ดสอนฉันว่า จังหวะสำหรับการใส่เพลงก็คือเมื่อตัวละครอยู่ในอารมณ์พร้อมจะเปล่งเสียงร้องเพลง เพราะเมื่ออารมณ์ของพวกเขาถึงขีดสุดแล้วก็ไม่มีอะไรที่เหมาะไปกว่าการร้องเพลงอีก" วูลเวอร์ตันเล่า "เขาเป็นอัจฉริยะตัวจริงที่รู้ว่าเมื่อไหร่และตรงไหนเหมาะกับการใส่เพลง ทั้งยังรู้ด้วยว่าบทเพลงสามารถพาคนดูให้กระโดดเข้าหาเรื่องราวได้ดียิ่งกว่าบทสนทนาไหนๆทั้งนั้น"
"โฮเวิร์ดกับอลันเก่งกาจมากในการเลือกเรื่องราวท่อนที่ดีๆในบทมาดัดแปลงเป็นฉากเพลงซึ่งยิ่งดูดีขึ้นไปอีก" ฮาห์นอธิบาย "โดยหลักๆแล้วก็มักจะเป็นฉากที่เป็นจุดเปลี่ยน เป็นฉากที่เน้นอารมณ์ดราม่า หรือไม่ก็ฉากตลก พวกเขาสามารถทำให้หนังมีความเป็นเพลงขึ้นมาได้โดยไม่ทำให้เรื่องหยุดชะงัก"
ส่วนเมนเคนกล่าวว่า "หนึ่งในสิ่งแรกๆที่โฮเวิร์ดกับผมทำตอนเริ่มงานชิ้นนี้ก็คือ นั่งลงและระดมไอเดียเกี่ยวกับเพลงกัน เขามักจะมีไอเดียหลักๆเกี่ยวกับสไตล์ของเพลงที่เขาอยากเขียนหรือบางทีก็อาจจะมีชื่อหรือเนื้อเพลงออกมาเลยด้วยซ้ำ จากนั้นเขาก็จะถามว่าเสียงดนตรีเป็นอย่างไรก่อนที่เราจะเริ่มเขียนกัน ผมก็จะนั่งลงบรรเลงเปียโนโดยปล่อยให้เสียงลื่นไหลไป โฮเวิร์ดมีความสามารถมากในการค้นหาว่าเขาชอบตรงไหนบ้างแล้วก็ลงมือเขียน เราสองคนมีวิธีสื่อสารกันได้แบบง่ายๆและเราต่างก็มีปูมหลังในความรักหนังเพลงเหมือนกัน ทั้งยังโตมาพร้อมอิทธิพลทางดนตรีคล้ายคลึงกันด้วย"
เพลงเปิดเรื่องของ Beauty มีชื่อง่ายๆว่า "Belle" ซึ่งจะแนะนำให้คนดูได้รู้จักกับนางเอกและความปรารถนาอย่างแรงกล้าของเธอในอันที่จะได้พบกับการผจญภัยและความรัก สำหรับเมโลดี้ของเพลงนี้นั้น เมนเคนผสมผสานระหว่างอิทธิพลจากเพลงยุคคลาสสิค, บาโร้ก และฝรั่งเศสเพื่อถ่ายทอดอารมณ์และความคึกคักของยามเช้าในหมู่บ้านชนบทเล็กๆแห่งนี้
เดวิด ฟรีดแมน ผู้รับหน้าที่อะเร้นจ์คำร้องและนำวง กล่าวว่า "'Belle' ก็คล้ายๆกับเพลง 'Pastoral Symphony' ที่เมืองทั้งเมืองตื่นขึ้นจากความหลับไหล ตัวเพลงมีทั้งองค์ประกอบของเพลงคลาสสิคและโครงสร้างแบบซิมโฟนี่ เราใช้วงออร์เคสตร้า 62 ชิ้นที่มีเครื่องสายเพียบ โดยสมาชิกวงส่วนใหญ่มาจากวงนิวยอร์คฟิลฮาโมนิคและไม่เคยมีการใช้ออร์เคสตร้าแบบนี้บรรเลงมาก่อนบนบรอดเวย์ จึงนับเป็นประสบการณ์ที่เร้าใจและน่าทึ่งมาก"
ในด้านเนื้อเพลงของ "Belle" จะสอดคล้องตามทฤษฏีของแอชแมนที่ว่า โดยหลักการแล้วเพลงในหนังจะต้องมีช่วงจังหวะของเหตุการณ์รองรับอยู่ ตัวอย่างเช่น เป็นฉากที่หญิงสาวนั่งอยู่บนอะไรสักอย่าง (ใน Brigadoon เป็นตอไม้, ใน Little Shop of Horrors เป็นถังขยะ) แล้วก็ร้องเพลงถึงสิ่งที่เธอต้องการมากที่สุดในชีวิต ซึ่งดิสนีย์เคยขอยืมกฎคลาสสิคจากโครงสร้างละครเพลงบรอดเวย์นี้มาใช้แล้วกับฉากเพลง 'Part of Your World' ใน The Little Mermaid"
เพลง "Gaston" เป็นเพลงวอลท์ซอึกทึกครึกโครมที่แสดงถึงบุคลิกเฉพาะตัวของตัวละครดังกล่าว โดยลูกน้องชื่อเลอฟูและผู้ชื่นชมแกสต็องคนอื่นๆร่วมกันขับร้อง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมรวมถึงตัวแกสต็องเองด้วย ฉากนี้เป็นช่วงสำคัญหนึ่งของหนังเพราะเปิดเผยด้านมืดน่าหวาดหวั่นของตัวละครซึ่งก่อนหน้านั้นดูเหมือนเป็นคนไม่มีพิษสง
"Be Our Guest" เป็นเพลงร่าเริงตามแนวเพลงเต้นรำของฝรั่งเศสซึ่งได้รับการถ่ายทอดในสไตล์อลังการโดยลูมีแอร์, มิสซิสพ็อตต์ส, ค็อกส์เวิร์ธ และกลุ่มคอรัสทั้งเหล่าจานแด๊นเซอร์, เครื่องเงินและข้าวของอื่นๆ จนกลายเป็นหนึ่งในฉากเพลงโดดเด่นที่สุดในหนัง ผู้อำนวยการสร้างฮาห์นบรรยายถึงมันว่าเป็นเหมือน "บัสบี้ เบิร์คลี่ย์, เอสเธอร์ วิลเลี่ยมส์ และ มอริซ เชวาเลียร์ บุกครัว" เลยทีเดียว
"จุดประสงค์หลักที่เราแต่งเพลงนี้ขึ้นก็เพื่อช่วยเติมสถานการณ์ในเรื่อง" เมนเคนกล่าว "สมองของเราเต็มไปด้วยภาพน่าอัศจรรย์ใจทั้งหลายที่แอนิเมเตอร์น่าจะสามารถสร้างขึ้นได้ และก็เช่นเคยที่พวกเขาทำได้ดียิ่งกว่าที่เราคาดหวังไว้เสียอีก"
ผู้กำกับ แกรี่ ทรูสเดล บอกว่า เดิมทีเพลง "Be Our Guest" นี้ตั้งใจให้ตัวละครร้องให้มอริซ "เราบันทึกเสียงกันไปเรียบร้อยแล้วและก็เริ่มวาดบางส่วนในฉากแล้วด้วยตอนที่มาตัดสินใจกันใหม่ว่า เพลงน่าจะดูมีความหมายขึ้นเยอะเลยหากเปลี่ยนเป็นร้องให้แก่เบลล์แทน" ทรูสเดลกล่าว "เพราะถึงที่สุดแล้ว เธอคือหนึ่งในสองตัวละครเอกและเรื่องราวก็เกี่ยวข้องกับการมายังปราสาทของเธอ เราจึงต้องเรียกตัว เจอร์รี่ ออร์บาช และนักพากย์คนอื่นๆกลับเข้าสตูดิโออีกครั้งเพื่อเปลี่ยนทุกรายละเอียดในเพลงที่เคยสื่อว่าร้องให้กับผู้ชายใหม่หมด"
เพลง "Something There" เป็นบทเพลงงดงามที่ถ่ายทอดความคิดซึ่งซุกซ่อนอยู่ภายใต้ตัวเบลล์กับอสูรหลังจากทั้งคู่เริ่มมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของอีกฝ่ายหนึ่ง เพจ โอฮาร่า กับ ร็อบบี้ เบนสัน เป็นผู้ขับร้องเพลงนี้ร่วมกับเสียงของเครื่องใช้อีกหลายชิ้นในปราสาท
สำหรับเพลงเอกชื่อเดียวกับหนังคือ "Beauty and the Beast" นั้น ขับร้องไว้อย่างสุดแสนน่าประทับใจโดย แอนเจล่า แลนส์บูรี่ เพื่อใช้ในฉากจับใจเมื่อตัวละครนำทั้งคู่ตกหลุมรักกัน โดยในท่ามกลางการเคลื่อนกล้องที่โฉบเฉี่ยวหมุนคว้างและการเต้นรำอย่างลื่นไหลของตัวละครนั้น บทเพลงที่ผสมผสานระหว่างเพลงกล่อมและพ็อพบัลลาดนี้ก็สามารถจับช่วงจังหวะงดงามเรียบง่ายไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม
"ผมคิดว่าความเรียบง่ายนี่แหละคือหัวใจสำคัญของเพลงพิเศษเพลงนี้" เมนเคนกล่าว "เราอยากให้มันฟังดูนุ่มนวลกว่าและเล็กกว่าเพลงประเภทที่เน้นความยิ่งใหญ่ทั่วไป เราแต่งเพลงนี้โดยนึกถึง แอนเจล่า แลนส์บูรี่ ตั้งแต่แรกและก็จินตนาการทั้งจากน้ำเสียงและความสามารถด้านการแสดงอันเหลือล้นของเธอ เราเลือกบางช่วงให้เธอเปล่งอารมณ์อย่างเต็มที่และอีกบางช่วงที่ละเอียดอ่อนหรือแทบจะเป็นเสียงพูด ซึ่งเธอก็สามารถตอบรับเราได้อย่างน่าทึ่งมาก"
ยังมีเพลง "Beauty and the Beast" ในเวอร์ชั่นพ็อพเปี่ยมพลังที่ขับร้องโดย ซีลีน ดิออน นักร้องสาวชาวแคนาเดียนเจ้าของรางวัลจูโน่ กับ พีโบ ไบรสัน อยู่อีกเพลงหนึ่งซึ่งเราจะได้ยินกันในช่วงเครดิตตอนท้ายของหนัง
เพลงสุดท้ายในหนังเรื่องนี้คือ "The Mob Song" ซึ่งเป็นเพลงดุดันแนวโอเปร่า ร้องโดย ริชาร์ด ไวท์ ผู้ให้เสียงตัวละครแกสต็อง เพลงถูกใช้เพื่อทำหน้าที่ขับเน้นการเผชิญหน้าครั้งแตกหักระหว่างชาวเมืองกับอสูร โดยมีนักร้องคอรัสชาย 12 ชีวิตเข้ามาร่วมสร้างความรู้สึกเข้มแข็งอีกแรงหนึ่งด้วยตามที่ทีมนักแต่งต้องการ
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ