กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
"อดีตพื้นที่ชุมชนรอบ มจธ. บางขุนเทียน ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำบ่อเลี้ยงกุ้ง และมีปลาหมอเทศเป็นพันธุ์ปลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากบ่อกุ้ง นักวิจัย และชาวบ้านในชุมชน เคยตั้งกลุ่มพัฒนาร่วมกันนำปลาหมอเทศมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อในท้องถิ่นอย่างปลาหมอแดดเดียว และน้ำปลา ในขณะนั้นนักวิชาการไม่ได้สร้างความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรร่วมกับชาวบ้าน มีการนำปลาหมอสีซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์มาปล่อยในคลองธรรมชาติทำให้เกิดการทำให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ ปลาหมอเทศเกิดการกลายพันธุ์ หน้าตา เนื้อสัมผัส และรสชาติเปลี่ยนไปไม่เหมาะกับการบริโภค ไม่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายได้เหมือนเดิม จากที่เคยเป็นพันธุ์ปลาท้องถิ่นที่สร้างรายได้ให้ชุมชน แต่ปัจจุบันชาวบ้านต้องซื้อพันธุ์ปลามาจากที่อื่นแทน.....
ซึ่งเรื่องราวนี้ล้วนเกิดขึ้นจากความไม่รู้และไม่ตระหนักรักษาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น"
กว่า 20 ปีแล้วที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ปฏิบัติงานภายใต้กิจกรรมสนองพระราชดำริของศูนย์ส่งเสริมมูลนิธิโครงการหลวง และโครงการพระราชดำริ มจธ. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟู ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็น เยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ และชาวบ้าน รวมไปถึงการปฏิบัติงานในกลุ่มมหาวิทยาลัยกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง
และในปี พ.ศ. 2555 มจธ. ได้รับพระราชทานอนุญาตให้เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ดำเนินงานสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจากยอดเขาสู่ท้องทะเล โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้กล่าวว่า ที่ผ่านมา มจธ. มีการทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์อยู่จำนวนมาก แต่กระจายอยู่ในส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ดังนั้นหาก มจธ. น้อมนำแนวทางการปฏิบัติของโครงการ อพ.สธ. มาใช้กับงานของมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดการจัดหมวดหมู่ ก็จะทำให้เห็นว่าแต่ละงานที่ทำนั้นมีประโยชน์อย่างไร มีประโยชน์กับใครได้บ้าง ในแต่ละพื้นที่มีอะไรที่สอดคล้องกัน และจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไร
"หัวใจสำคัญของ อพ.สธ. คือการรู้จักใช้ประโยชน์ เกิดความตระหนักและหวงแหนในสิ่งที่มีอยู่ แต่ก่อนที่เราจะไปบอกให้ใครทำอะไรได้นั้น กลไกสำคัญต้องเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน เราพยายามปลูกฝังให้คนใน มจธ. มีความตื่นตัวเรื่องสภาพแวดล้อมแบบกว้าง สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติคือบุคลากร นักวิจัย ตลอดจนนักศึกษา ของ มจธ.ไม่ว่าจะไปทำงานในพื้นที่ใดก็ตาม ให้นำหลักปฏิบัติตามแนวทางพระราชดำริของ อพ.สธ. ไปใช้ด้วยเสมอ สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่ามีอะไรอยู่ตรงนั้น คนที่นั่นเขาเคยทำอะไรมาก่อน แล้วเราจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีตรงนั้นและช่วยอนุรักษ์มันไว้ได้อย่างไร ไม่ใช่ไปตักตวงจากธรรมชาติตลอดเวลาเพราะไม่เกิดความยั่งยืน"
ทางด้าน รศ.นฤมล จียโชค ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มจธ. กล่าวเสริมว่า ในการดำเนินงานตามกรอบของ อพ.สธ.นั้น ต้องสังเกตทรัพยากรในพื้นที่ที่เข้าไปทำงานไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ หนึ่งในเป้าหมายที่ มจธ.พยายามปลูกฝังคือการที่บุคลากร นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกิดความตระหนัก เมื่อเข้าไปวิจัยและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มบทบาทของตนในการเป็นพี่เลี้ยงชักชวนให้คนในท้องถิ่นนั้นรับรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรที่ยังคงมีอยู่ เกิดความตระหนักที่จะช่วยกันสำรวจและรักษาไม่ให้ทรัพยากรเหล่านั้นหายไป
" ความน่ากลัวที่ทำให้ทรัพยากรหมดไปก็คือ ความไม่รู้ของคนในท้องถิ่น เพราะเขาไม่รู้ว่าสำคัญเขาจึงไม่ทันได้รักษา จึงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องทำหน้าที่เติมเต็มในส่วนนี้ มจธ. ปฏิบัติงานตามหลักของ อพ.สธ. โดยยึดหลัก 3 กรอบ 8 กิจกรรม ได้แก่ กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร กรอบการใช้ประโยชน์ และกรอบการสร้างจิตสำนึก แต่เราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ เราต้องทำงานร่วมกับชุมชน และโรงเรียน เพราะเขาอยู่ในพื้นที่มาก่อนเรา หากความตระหนักรักษาไม่ได้เกิดจากพวกเขาก็ไม่สามารถเกิดความยั่งยืนขึ้นได้
กรอบการทำงานของ อพ.สธ.มจธ. เราแบ่งโซนการทำงานเป็น 3 พื้นที่ภายใต้รัศมีอย่างน้อย 50 กิโลเมตรจาก มจธ. โดยแต่ละพื้นที่จะมีขอบเขตของการอนุรักษ์ที่ต่างกันออกไป อย่างที่บางมดเรามองเรื่องของการอนุรักษ์สวนส้มเราต้องสำรวจและรวบรวมพันธุ์ ทำอย่างไรให้คนในพื้นที่เห็นคุณค่าของสวนส้มบางมดที่กำลังจะหมดไป อนาคตหากเกิดน้ำท่วมต้นส้มตายไปหมด สิ่งที่เราทำได้คือช่วยเก็บรักษาพันธุ์และขยายพันธุ์พื้นถิ่นให้ชาวบ้านนำไปปลูกใหม่ได้ ส่วนที่บางขุนเทียนนั้นเนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของกรุงเทพฯ เป็นแหล่ง Food Safety ของคนเมืองเราจึงเริ่มต้นที่เรื่องของพันธุ์ไม้ทนเค็ม และสัตว์น้ำที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นถิ่น เราต้องเตรียมพร้อมให้คนกับทรัพยากรธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ในวันที่เมืองมันขยายรุกล้ำธรรมชาติ และอีกแห่งคือ มจธ. ราชบุรีเนื่องจากตั้งอยู่ติดกับพื้นที่ป่าดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของป่าเต็งรัง และอีกอย่างในป่าที่ราชบุรีมักจะมีชาวบ้านมาเก็บเห็ดไปขาย เราเป็นนักวิชาการในพื้นที่อย่างน้อยเราก็ควรจะบอกพวกเขาได้ว่าเห็ดชนิดไหนควรเก็บ ชนิดไหนควรอนุรักษ์ หรือชนิดไหนมีพิษ รวมไปถึงเรื่องของการอนุรักษ์ต้นผึ้งด้วย การอนุรักษ์ในความหมายของโครงการ อพ.สธ.นั้นไม่ได้หมายถึงหมวดหมู่ของพืชเท่านั้น แต่หมายถึงทุกอย่างทั้งทรัพยากรชีวภาพ กายภาพ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม"
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า ในยุค Bioeconomy เศรษฐกิจฐานชีวภาพ ในวันที่ทรัพยากรธรรมชาติเหลือน้อย ประเทศใดมีฐานของทรัพยากรชีวภาพมั่นคงก็จะเป็นผู้ได้เปรียบ ดังนั้นทั้งหน้าที่ของนักวิชาการที่เข้าไปในพื้นที่ต้องเป็นตัวกระตุ้นสร้างความตระหนักสร้างจิตสำนึกให้เจ้าถิ่นรู้ว่าสิ่งที่เขามีอยู่สำคัญอย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรได้ และเกิดความหวงแหน
"ข้อสังเกตหนึ่งพบว่า กระบวนการการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนี้เปลี่ยนไป ทุกวันนี้เราเรียนรู้แต่ในห้องlab เราสังเกตธรรมชาติน้อยลง เราไม่พบองค์ความรู้ใหม่จากธรรมชาติมานาน เราสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้เกิดขึ้นในห้องlab มากกว่า ทั้งที่จริงแล้วในธรรมชาติมีองค์ความรู้อีกมาก ถ้าเราจะเข้าสู่ bioeconomy เราต้องไม่รอบรู้อยู่แค่ในห้องที่เราควบคุมทุกอย่างได้เท่านั้น แต่เราต้องรู้ว่าข้างนอกมีอะไร โลกนี้มีอะไร และทำมันไปควบคู่กันเพราะสุดท้ายแล้วองค์ความรู้ที่เกิดจากธรรมชาติถึงจะไม่สร้างผลงานที่อู้ฟู่แต่ยั่งยืนเสมอ"