กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--เวิรฟ
เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมรักลูกของตนสุดหัวใจ แต่การบอกรักลูกเพียงอย่างเดียว โดยไม่เคยให้เวลากับลูก ก็เหมือนกับการปลูกต้นไม้ ที่ปล่อยให้ต้นไม้เติบโตเองจากแดดฝน กิ่งก้านใบอาจบิดเบี้ยว ไม่ออกดอกผล รากอาจไม่แข็งแรงและอาจล้มลงได้แม้โดนลมพัดเพียงแผ่วเบา เนื่องจากขาดปุ๋ยในการเติมพลังให้แก่ต้นไม้ การปลูกต้นไม้ควรหมั่นใส่ปุ๋ยบำรุง ซึ่งปุ๋ยในที่นี้ก็คือ การบอกรักลูก และให้เวลาอย่างสม่ำเสมอ จนต้นไม้งอกงามอย่างสมบูรณ์แข็งแรงทั้งลำต้นและรากที่หยั่งลึกดังนั้นในการเลี้ยงลูก สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าความรัก ก็คือการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับลูกน้อย เพราะการใช้เวลาอยู่กับลูก จะทำให้คุณรู้จักตัวตนของเจ้าตัวน้อยมากขึ้น เข้าใจที่มาที่ไปของพฤติกรรมต่างๆ ทำให้ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดี และแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเจ้าตัวน้อยได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน ลูกก็จะเกิดความเชื่อใจ ไว้วางใจในตัวพ่อแม่ ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญต่อการใช้ชีวิตของลูกน้อยต่อไปในอนาคต ซึ่งสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ มีแนวทางการดูแลลูกสำหรับผู้ปกครองไว้ดังนี้
เวลาคุณภาพ สร้างได้อย่างไร
พญ. ถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ ให้คำแนะนำคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองว่า "การใช้เวลาที่มีคุณภาพกับลูก ไม่ได้หมายความว่าอยู่บ้านเดียวกันแล้วจะเรียกว่าใช้เวลาอย่างมีคุณภาพด้วยกัน หรือปล่อยให้ลูกนั่งเล่นอยู่ข้างๆ แต่พ่อแม่เอาแต่ดูหน้าจอมือถือ แบบนี้ก็ไม่เรียกว่าใช้เวลาคุณภาพ การใช้เวลากับลูกให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือการเล่น พูดคุย หยอกล้อ กอด ถามไถ่ความเป็นไปต่างๆ ในชีวิตลูก รับประทานข้าวพร้อมหน้ากันเป็นประจำอย่างน้อยๆ วันละมื้อ หรือในเวลาที่ลูกกำลังเล่นคนเดียว หรือทำกิจกรรมต่างๆพ่อแม่ก็อาจสังเกตลูกอยู่ห่างๆ ดูว่าลูกเล่นอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่รู้จักลูกน้อยของตัวเองดีขึ้น เมื่อต้องสอนหรือให้คำแนะนำแก่ลูก คุณก็จะสามารถเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับลูกน้อยแต่ละคนได้ เพราะคุณรู้จักลูกของตัวเองเป็นอย่างดี นอกจากนี้ การให้เวลายังทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าเขามีความสำคัญ ซึ่งจะช่วยสร้างความนับถือตนเอง (self-esteem) ซึ่งเป็นพื้นฐานทางอารมณ์ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต"
ใช้เวลาอย่างไร กับลูกแต่ละวัย
การใช้เวลากับลูก ถือเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับเด็กๆ ในทุกช่วงวัย อย่างเช่น ในวัยทารก การที่คุณพ่อคุณแม่ให้เวลาและตอบสนองเสียงร้องของลูกอย่างทันที อุ้มเมื่อลูกร้อง ไม่เพียงเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ แต่ยังทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะสร้างความเชื่อมั่น (Trust) ในตัวผู้เลี้ยงดู ทำให้ทารกรู้สึกปลอดภัยในโลกใบใหม่ จะช่วยให้ลูกมีอารมณ์ที่มั่นคงและร้องไห้น้อยลง ในทางกลับกัน หากเราปล่อยให้ลูกร้อง เพราะกลัวว่าจะสปอย หรือจะทำให้ลูกติดมือวางไม่ได้ ลูกจะยิ่งร้องงอแง เพราะเขาขาดความเชื่อมั่นในตัวพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู และรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจสิ่งผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ภายหลังได้
วัยเตาะแตะ ๑-๓ ปี นั้น การใช้เวลากับลูกอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้คุณเข้าใจความต้องการของลูกน้อยได้ดี โดยเฉพาะเด็กวัยนี้ เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ทักษะการสื่อสารอาจยังไม่ดีเท่าไรนัก เมื่อลูกต้องการ หรือรู้สึกบางอย่าง แต่สื่อสารบอกพ่อแม่ไม่ได้ ลูกก็อาจมีอาการหงุดหงิดร้องไห้ หากพ่อแม่ไม่ค่อยได้ใช้เวลากับลูกมากพอก็อาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่ลูกกำลังจะบอก ทำให้ลูกยิ่งหงุดหงิด พ่อแม่ก็อาจเริ่มโมโห ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย สำหรับลูกวัยนี้ พ่อแม่ควรเล่นกับลูก เล่านิทานให้เขาฟัง ชื่นชมเมื่อลูกทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง หากลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาจใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ
สำหรับลูกที่อยู่ในวัยเรียน จะมีความเป็นตัวของตัวเอง อยากมีเวลาส่วนตัว อาจไม่ติดพ่อแม่เท่าไรนัก แต่หากในครอบครัวมีการรับประทานอาหารพร้อมหน้ากันเป็นประจำ ก็ควรใช้ช่วงเวลานี้พูดคุยถามไถ่ความเป็นไปในชีวิตลูก ขณะกินข้าวทุกคนควรงดใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อจะได้มีเวลาให้กันอย่างเต็มที่
สำหรับลูกวัยรุ่น วัยนี้ลูกๆ จะเริ่มอยากมีพื้นที่ส่วนตัว ต้องการเวลาจากพ่อแม่ลดลง แต่ก็ยังต้องการร้องขอเวลาจากพ่อแม่เมื่อตนมีปัญหา โดยถ้าเรามีเวลากับลูกตั้งแต่เล็กๆ สร้างสัมพันธภาพกับลูกได้ดี ลูกจะสามารถรับรู้ว่าตัวเขาสามารถมาหาพ่อแม่ได้ตลอดเวลา เชื่อใจและเปิดใจกับพ่อแม่ได้ นั่นคือเราต้องมีเวลาที่พร้อมเสมอสำหรับลูก ซึ่งสิ่งนี้ก็จะช่วยลดความกังวลของคุณพ่อคุณแม่เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นได้เช่นกัน
ซึ่งหากพ่อแม่ให้เวลากับลูกเป็นประจำ สม่ำเสมอมาตั้งแต่เขายังเล็กๆ การพูดคุยเรื่องต่างๆ กับลูกก็จะเป็นเรื่องง่ายเพราะปฏิบัติกันมาจนเคยชินอยู่แล้ว แต่หากไม่เคยทำมาก่อนก็ยังไม่สายค่ะ ค่อยๆ เริ่มให้ลูกเห็นว่าเราใส่ใจจริงๆ หมั่นถามไถ่ กอด และชวนลูกไปทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ลูกรับรู้ถึงความรักและใส่ใจที่พ่อแม่มีให้ได้ พญ. ถิรพร ตั้งจิตติพร กล่าวทิ้งท้าย