กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--ซีพีเอฟ
ปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของโลกไอที ที่ทุกคนสามารถรับรู้ข่าวสารได้มากขึ้น "เรื่องสุขอนามัยและอาหารปลอดภัย" จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนต่างขยับปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว โดยเฉพาะภาคเกษตรปศุสัตว์ ที่มีกรมปศุสัตว์เป็นหัวเรือใหญ่ในการผลักดันระบวนการผลิตสัตว์ให้เข้าสู่มาตรฐาน โดยกำหนดตั้งแต่ระบบฟาร์มมาตรฐาน โรงฆ่ามาตรฐาน ตลอดจนการขนส่งและจุดจำหน่ายสินค้าที่ถูกสุขอนามัย ซึ่งนับเป็นการสร้างรากฐานสำหรับความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารของไทย ที่ผลิตทั้งเพื่อป้อนผู้บริโภคภายในประเทศและเพื่อการส่งออก
"ปศุสัตว์ OK" ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ในการยกระดับมาตรฐานจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ให้มีสุขอนามัยที่ดี และเป็นจุดสังเกตุให้กับผู้บริโภคว่าเนื้อสัตว์ที่ซื้อหาจากร้านค้าที่ได้รับสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" มีความปลอดภัยต่อการบริโภค ปลอดสารตกค้าง และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์จนถึงจุดขายก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค ที่ผ่านมานอกจากกรมปศุสัตว์จะส่งเสริมร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ในตลาดสดให้ร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว ยังมุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อย ดังเช่น ถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน ให้เป็นจุดเชื่อมโยงความปลอดภัยในอาหารสู่ผู้บริโภคในระดับชุมชนด้วย
สิริกร เกมสูงเนินหนึ่งในตัวอย่างของเถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน "ร้านนุ้ย-นัทหมูสด" ที่หมู่ 3 ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ที่ร่วมโครงการปศุสัตว์ OK เล่าย้อนถึงที่มาก่อนที่จะเป็นเถ้าแก่เล็กในวันนี้ว่า เคยเป็นครูอัตราจ้างในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่โคราช แต่เธอมองว่าไม่มีความมั่นคงในอาชีพจึงลาออกมาเปิดร้านขายของชำเพราะได้มีเวลาอยู่บ้านกับครอบครัว และมีแนวคิดที่จะหาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์มาขายเพิ่ม ขณะนั้นทราบว่าทาง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มีโครงการส่งเสริมอาชีพเถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน เพื่อให้เป็นต้นทางการส่งมอบเนื้อสัตว์ที่สะอาด ปลอดภัย ให้กับผู้บริโภคในชุมชน เมื่อศึกษาแล้วก็เห็นว่าเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ด้านอาชีพ เวลา และผลตอบแทน จึงตกลงร่วมโครงการทันที จากนั้นบริษัทจึงจัดฝึกอบรมเถ้าแก่เล็กให้ได้เรียนรู้ทั้งการชำแหละหมู ฝึกพื้นฐานการซ่อมบำรุงตู้แช่เย็น รวมถึงหลักปฏิบัติที่จุดขาย ความรู้ด้านงานขาย การจัดการผลิตภัณฑ์และความเป็นเลิศด้านมาตรฐานสินค้า ทำให้มั่นใจในการเริ่มต้นอาชีพ
"การเป็นเถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชน เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะนอกจากจะทำให้ร้านขายของชำเดิมมียอดขายเพิ่มมากขึ้นแล้ว เรายังถือเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญในการส่งต่อเนื้อหมูที่ปลอดภัยจากฟาร์มและโรงงานแปรรูปของบริษัท ไปถึงเพื่อนบ้าน และช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเขาเพราะสามารถมาซื้อเนื้อหมูได้ตลอด ซื้อมากซื้อน้อยเราก็ขาย ไม่จำเป็นต้องซื้อมาเก็บให้เน่าเสีย" สิริกร บอก
ส่วน พันธุ์ทิพย์ บุญส่งเจ้าของ "ร้านทิพย์หมูสด" ที่ตัดสินใจเป็นเถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชนอีกราย ที่หมู่ 1 ตำบลโคกกรวด บอกว่า ก่อนนี้เคยเป็นพนักงานในสนามกอล์ฟเงินเดือนก็ไม่มากนัก และคิดว่าไม่อยากเป็นลูกจ้างเขาไปตลอดชีวิต จึงขยับขยายหาช่องทางอาชีพอื่น จนมาเห็นโครงการนี้ที่ได้เป็นเจ้าของกิจการเองด้วยเงินลงทุนไม่มากก็รู้สึกสนใจและศึกษาข้อมูลทันที และเห็นว่ากว่าจะได้สินค้ามาจำหน่ายมีกระบวนการและขั้นตอนที่เป็นมาตรฐาน ตั้งแต่การเลี้ยงหมูในฟาร์มมาตรฐานของกรมปศุสัตว์จนได้หมูปลอดสารตกค้าง เข้าชำแหละในโรงฆ่าถูกกฎหมาย มีการขนส่งด้วยรถห้องเย็นเพื่อควบคุมและรักษาคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ซีพีเอฟกำหนด จึงมั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับเนื้อหมูสดสะอาดปลอดภัย แน่นอน
"เราไม่ได้เป็นแค่คนขายแต่ถือเป็นผู้บริโภคด้วย ดังนั้นเมื่อเห็นขั้นตอนทั้งหมดกว่าจะได้หมูมาขายที่ร้านก็ยิ่งทำให้เชื่อมั่นว่าตัดสินใจถูกที่มาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยในอาหารให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะการร่วมโครงการปศุสัตว์ OK ยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้อีก นอกจากนี้ ยังต่อยอดทำผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ อย่างเช่น แคบหมู และน้ำมันหมูที่ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อมากขึ้นเรื่อยๆเพราะปรุงอาหารแล้วหอมน่ากิน หลังจากเป็นเถ้าแก่เล็กมาเกือบปีทำให้รู้ว่าอาชีพนี้ไปต่อได้ และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวครอบครัวก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น" พันธุ์ทิพย์ กล่าว
เถ้าแก่เล็กตู้หมูชุมชนทั้ง 2 ราย เป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ที่ทั้งต้องการมีอาชีพเป็นของตนเองและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การสร้างอาหารปลอดภัยถึงผู้บริโภค./