กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--กรมสุขภาพจิต
ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2560 โดยมี แพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมสุขภาพจิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติสุขภาพจิต ว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเตรียมส่งกระทรวงสาธารณสุขเพื่อยืนยันร่างกฎหมายก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเพิ่มเติมข้อกฎหมายที่เอื้อต่อการดำเนินงานและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น เพื่อประชาชนได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงมี ทั้งด้านการสร้างเสริมสุขภาพจิต การป้องกันและควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิตการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ตลอดจนการคุ้มครองผู้ป่วยให้ได้รับการปกปิดข้อมูลไว้เป็นความลับ ป้องกันการละเมิดสิทธิในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชน ซึ่งวันนี้ได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การเสริมสร้างสุขภาพจิต การป้องกัน และควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต การรักษาและฟื้นฟูผู้มีความผิดปกติทางจิต เพื่อพิจารณากรอบนโยบายและยุทธศาสตร์สุขภาพจิตแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพจิตฉบับใหม่
ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า สาระสำคัญของ พ.ร.บ.สุขภาพจิต มีการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบรวมทั้งอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ การเพิ่มเติมให้คณะกรรมการฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพจิต การป้องกันและควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต การกำหนดให้การเผยแพร่ข้อมูลใดๆ ในสื่อทุกประเภทต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของผู้ป่วยและครอบครัว การกำหนดให้ผู้รับดูแลผู้ป่วยมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด เป็นต้น พระราชบัญญัติสุขภาพจิต จึงเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในสังคม ที่เน้น "การป้องกัน" มากกว่า "การแก้ไข" ตลอดจน คุ้มครองสิทธิผู้ป่วยจิตเวชให้ได้รับการบำบัดรักษาที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง ป้องกันหรือบรรเทาไม่ให้อาการผิดปกติทางจิตรุนแรงมากยิ่งขึ้น ความเสี่ยงที่จะไปทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นก็จะน้อยลง ประชาชนปลอดภัย สังคมปลอดภัย ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้มีความผิดปกติทางจิตหรือมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น ให้แจ้ง บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มูลนิธิ/กู้ชีพ/กู้ภัย หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ./1669) เพื่อขอความช่วยเหลือในการนำส่งโรงพยาบาลได้ทันที