กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลุยต่อเนื่อง ลงพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ แหล่งปลูกมะพร้าวสำคัญของไทย รวม457,285 ไร่ ซึ่งพบการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว 8 อำเภอ รวม 102,121 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.36 ของพื้นที่ปลูกด้านกระทรวงเกษตรฯ เร่งกำหนดแนวทางการไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยการบูรณาการ รูปแบบประชารัฐ
วันนี้ (17 มีนาคม 2560) นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ของ สศก. เพื่อร่วมติดตามสถานการณ์ศัตรูมะพร้าวระบาดของทีมรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) ประธานกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช โดยหลังจากติดตามสถานการณ์ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ต่อเนื่อง ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกหนึ่งแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญในภาคใต้ และกำลังประสบปัญหาศัตรูมะพร้าวเข้าทำลายต้นมะพร้าว โดยเฉพาะแมลงดำหนามและหนอนหัวดำ ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตมะพร้าวของไทย และไม่สามารถสนองความต้องการของตลาดได้เพียงพอ
สำหรับพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ มีจำนวน 1,240,874 ไร่ ใน 55 จังหวัด พบการระบาดของหนอนหัวดำ 28จังหวัดพื้นที่รวม 78,954 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 6 ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ โดยในส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 44,296 ครัวเรือน มีพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 1,924,963 ไร่ พืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ สับปะรด และมะพร้าว ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศ จำนวน 457,285 ไร่ เกษตรกร 24,798 ครัวเรือน ปลูกมากที่สุดที่อำเภอบางสะพาน 162,120 ไร่ รองลงมาอำเภอทับสะแก 141,554 ไร่ อำเภอบางสะพานน้อย 71,267 ไร่ และอำเภอเมือง46,713 ไร่
ทั้งนี้ การระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มี 8 อำเภอ รวม 102,121 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.36 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช และกรมวิชาการเกษตร รวมทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกรและเอกชน ได้มีการบูรณาการทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรรูปแบบประชารัฐร่วมกันรณรงค์ในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางการไขปัญหา คือ เร่งตัดทางใบที่ถูกหนอนหัวดำทำลายและนำมาเผา พ่นด้วยเชื้อ BT ปล่อยแตนเบียน พ่นสารเคมีทางใบ และฉีดสารเคมีเข้าต้นตามหลักวิชาการที่ไม่ส่งผลต่อต้นมะพร้าว ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม