กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) และธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) สองสถาบันการเงินในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ผสานศักยภาพบริการทางการเงินครบวงจรซึ่งรวมถึงการให้และจัดหาสินเชื่อวงเงิน 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.85 หมื่นล้านบาท สนับสนุนบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ในการเข้าซื้อกิจการในศรีลังกาและล่าสุดในเวียดนามเสร็จสิ้นสมบูรณ์
กรุงศรี และ BTMU ร่วมกันให้บริการการเงินแบบครบวงจรแก่บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC) และบริษัทในเครือ คือบริษัทนครหลวงคอนกรีต จำกัด (SCCO) ในการเข้าประมูลซื้อธุรกิจของโฮลซิมในประเทศศรีลังกาและเวียดนาม โดย SCCO และ SCCC ชนะประมูลเพื่อซื้อหุ้น 98.9524% ในบริษัท Holcim (Lanka) Ltd (HLL) และซื้อหุ้น 65% ใน Holcim (Vietnam) Co., Ltd. (HVL) จากบริษัท LafargeHolcim Ltd. การซื้อกิจการทั้งสองบริษัท ถือเป็นหลักชัยสำคัญของกลุ่ม SCCC ที่ตั้งเป้าจะเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำในภูมิภาคนี้ และขยายธุรกิจนอกเหนือจากตลาดในประเทศ
นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กรุงศรี และ BTMU ได้ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ในการให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร โดยทำหน้าที่เป็นทั้งที่ปรึกษา ผู้สนับสนุนสินเชื่อและผู้จัดหาเงินกู้ เพื่อมั่นใจว่าแผนการขยายธุรกิจของ SCCC ประสบผลสำเร็จ
"ด้วยเครือข่ายการประสานงานของกรุงศรี ทำให้ BTMU เป็นแกนนำในการจัดหาแหล่งเงินทุนให้ SCCC เพื่อซื้อกิจการของโฮลซิมในศรีลังกาและเวียดนาม ความสำเร็จของการซื้อกิจการดังกล่าว แสดงถึงจุดแข็งของกรุงศรีในการผนึกกำลังร่วมกับสถาบันการเงินอื่น ๆ ในเครือ MUFG และตอกย้ำศักยภาพของกรุงศรีในการให้บริการอย่างครบวงจรแก่ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะผนึกกำลังกับเครือข่าย MUFG เพื่อหาโอกาสสนับสนุนธุรกิจไทยให้สามารถขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง" นายพรสนองกล่าว
นายศิวะ มหาสันทนะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง กล่าวว่า "การเข้าซื้อกิจการในเวียดนามถือว่าเป็นธุรกรรมที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท และเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในการเข้าซื้อธุรกิจปูนซีเมนต์ในต่างประเทศของบริษัทไทย การสนับสนุนทางการเงินดังกล่าวช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับบริษัทที่จะเดินหน้าตามแผนการซื้อกิจการได้อย่างมั่นใจ และทำให้บริษัทมีระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะดำเนินการชำระคืนหนี้ในช่วงต่อไป และยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งอีกด้วย"
กรุงศรี ซึ่งเป็นธนาคารพันธมิตรหลักของ SCCC ได้ร่วมกับ BTMU เพื่อสนับสนุน SCCC ในการประมูลและเข้าซื้อกิจการดังกล่าว โดยได้ให้บริการทางการเงิน อาทิ กรุงศรีร่วมกับ BTMU ออกจดหมายรับรองการจัดหาเงินกู้อายุ 1 ปี วงเงิน 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.85 หมื่นล้านบาท) ให้กับผู้ขาย เพื่อสนับสนุน SCCC เข้าร่วมประมูลซื้อกิจการทั้งสองแห่งในเดือนสิงหาคม 2559 กรุงศรีและ BTMU ได้ร่วมปล่อยกู้บริดจ์โลน (Bridge loan) แบบสองสกุลเงิน ระยะ 1 ปี วงเงิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท) ให้กับ SCCO ในการซื้อกิจการ HLL ในศรีลังกากรุงศรีร่วมสนับสนุน BTMU ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดหาแหล่งเงินกู้สกุลเงินบาทวงเงิน 1.89 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุน SCCC ซื้อหุ้นบริษัท HVL ในเวียดนาม โดยล่าสุด BTMU และกรุงศรีประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ร่วมจัดหาแหล่งเงินกู้วงเงิน 1.89 หมื่นล้านบาทจากธนาคารชั้นนำ 6 แห่งกรุงศรีทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ SCCC เพื่อให้คำแนะนำโครงสร้างเงินทุนและการเสนอทางเลือกในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม กรุงศรีทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในเรื่องการจัดอันดับเครดิตให้กับ SCCC โดยให้คำแนะนำและประสานงานในกระบวนการชี้แจงกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการเข้าซื้อกิจการในศรีลังกาและเวียดนาม ตลอดจนแผนการปรับโครงสร้างการเงินของบริษัทกรุงศรีมีความพร้อมที่จะให้ความสนับสนุนบริษัทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาแหล่งเงินทุนระยะยาวมารีไฟแนนซ์เงินกู้ Bridge loan ระยะสั้น ในระยะต่อไป