กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--กรมสุขภาพจิต
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้เป็นวันความสุขสากล (The International Day of Happiness) จากผลสำรวจความสุขคนไทย ปี 2558 โดยความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยแบบสำรวจสุขภาพจิตคนไทย ฉบับสั้น 15 ข้อ พบว่า การจัดสรรเวลาสำหรับงาน/ชีวิตส่วนตัว/ครอบครัวได้ดีและการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ที่ส่งผลต่อความสุขของคนไทย โดยพบว่า การจัดสรรเวลาสำหรับงาน/ชีวิตส่วนตัว/ครอบครัวได้ดี จะมีความสุขมากกว่า 4.2 เท่า ขณะที่ การมีสุขภาพดี จะมีความสุขมากกว่า 3.9 เท่า วันความสุขสากล ปีนี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทุกคนมาร่วมกันสร้างความสุขง่ายๆ ที่สร้างขึ้นได้ในทุกวัน เริ่มจากตัวเอง ด้วยการจัดสรรเวลา สร้างสมดุลให้กับชีวิต อีก 1 แนวทางสร้างสุขในบัญญัติสุข 10 ประการ ที่สมาชิกแฟนเพจสุขสร้างได้ (SUKSANGDAI) ในวัยต่างๆ จากทุกภาคทั่วประเทศ โหวตให้เป็นวิธีสร้างสุข ลำดับที่ 5 ต่อจาก "ให้เวลา ขยับกาย กระจายสิ่งดี" ที่ได้รณรงค์ เมื่อปี 2558 และ "คิดบวก ชีวิตบวก" เมื่อปีที่ผ่านมา
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การจัดสรรชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานให้มีประสิทธิภาพ หรือการรู้จักใช้ชีวิตอย่างสมดุลจะช่วยสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นได้ จึงควรทำให้เส้นกั้นระหว่างชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงานเป็นเส้นบางที่สุด อาจทำได้โดย 1.ใช้หลัก 8-8-8 โดยแบ่งเวลา 8 ชั่วโมงสำหรับการทำงาน ใช้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ด้วยความตั้งใจและเอาใจใส่ในหน้าที่ 8 ชั่วโมงสำหรับการนอนหลับพักผ่อน และ 8 ชั่วโมงสำหรับการดูแลครอบครัว เอาใจใส่คนที่เรารัก ตอบแทนผู้มีพระคุณ ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายเพลิดเพลิน ตลอดจน พัฒนาตนเอง และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง พึงระลึกเสมอว่า ชีวิตนี้ไม่ได้มีแต่งาน เรายังมีครอบครัว มีเพื่อน และคนที่เรารัก 2.ดูแลรักษาสุขภาพ พึงระลึกเสมอว่า สุขภาพดีไม่มีขาย ร่างกายคือต้นทุนอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิต ร่างกายที่แข็งแรงจะช่วยให้สามารถทำหลายๆ สิ่งที่อยากทำได้เต็มที่ 3.วางแผนการทำงานกำหนดเป้าหมาย จัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง พึงระลึกเสมอว่า เราไม่สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง อย่าให้ความสำคัญกับทุกเรื่องเท่าเทียมกัน มอบหมายงานที่สำคัญน้อยกว่าให้ผู้อื่นทำแทนบ้าง 4.ฝึกคิดบวกเสมอ เพราะแต่ละวันต้องทำงานร่วมกับผู้คนมากมาย ทำให้เกิดความเครียด และอยู่กับความคิดด้านลบได้ เช่น กังวล ท้อแท้ โกรธ เกลียด เสียใจ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะไปกัดกร่อนเวลาและสุขภาพกายใจเราไปทีละน้อย จึงควรหันมาโฟกัสในสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จก่อนจะดีกว่า และ 5.ใช้ชีวิตให้พอดี หรือเดินทางสายกลาง ไม่เครียด หรือสุดโต่งเกินไป อย่าทำให้ตนเองต้องลำบาก หรือหย่อนยานจนเกินไป
"เราทุกคนสามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองในทุกวัน ทุกเวลา และทุกสถานที่ มาร่วมสร้างและส่งต่อความสุขไปยังคนรอบข้างด้วยกันตั้งแต่วันนี้ ด้วยการจัดสรรเวลา สร้างสมดุลให้กับชีวิต ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุขเท่านั้น ยังจะทำให้คนสำคัญในชีวิตของเรามีความสุขไปด้วย พึงระลึกไว้เสมอว่า การมีคนรักหรือครอบครัวที่อบอุ่น มีความรักความผูกพันที่แน่นแฟ้น ย่อมเป็นกำลังใจสำคัญในการเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต ตลอดจนส่งผลให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามไปด้วย " อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว