กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
วันที่ 13 มีนาคม 2560 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่าบริเวณพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ของทุกปี ทำให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นมลพิษ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้คิดค้นศึกษาวิจัยเทคนิคและรูปแบบการบินเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันขึ้น ภายใต้ โครงการศึกษา การปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยใช้แนวคิดจาก การใช้สารฝนหลวงตามตำราฝนหลวงพระราชทานในขั้นตอนที่ 4 ซึ่งใช้สารฝนหลวงสูตรเย็นจัดหรือน้ำแข็งแห้ง โปรยในบริเวณเหนือชั้นบรรยากาศอุณหภูมิผกผัน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดต่ำลง และส่งผลให้ฝุ่นละอองสามารถลอยขึ้นบรรยากาศระดับบนได้
สำหรับการปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน จะใช้อากาศยานชนิด CASA จำนวน 2 ลำ ในการโปรยสารฝนหลวงสูตรเย็นจัดหรือน้ำแข็งแห้ง และใช้เครื่องบิน Super King Air สำหรับตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของค่าทางอุตุนิยมวิทยาและความเข้มข้นของฝุ่นละออง จำนวน 1 ลำ ปฏิบัติการร่วมกันด้วย โดยมีเป้าหมายในพื้นที่ 9 จังหวัดของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ตาก พะเยา และแม่ฮ่องสอน ซึ่งพร้อมเริ่มปฏิบัติการในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2560 นี้
นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอีก 1 โครงการ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นภารกิจในยุทธศาสตร์ที่ 1 ของกรมฝนหลวงฯ โดยภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน คือการเกิดพายุฤดูร้อนและลูกเห็บ กรมฝนหลวงฯ จึงเตรียมความพร้อมในการบรรเทาความรุนแรงจากภัยดังกล่าวด้วยเทคนิคการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการดัดแปรสภาพอากาศ ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อยับยั้งความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ โดยใช้เทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานไว้ในตำรา ฝนหลวงพระราชทาน ซึ่งจะใช้เครื่องบินแบบปรับความดัน (Super King Air 350) และสารฝนหลวงซิลเวอร์ ไอโอไดด์ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแกนของผลึกน้ำแข็งในธรรมชาติ เพิ่มแกนผลึกน้ำแข็งให้มากกว่า การปฏิบัติการเมฆเย็นตามปกติ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดลูกเห็บได้ เนื่องจากแกนผลึกน้ำแข็งปริมาณมาก ที่เพิ่มเข้าไปในเมฆเย็นจะไปแย่งเม็ดน้ำเย็นยิ่งยวด ทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กปริมาณมาก เมื่อเกิดฝนตกผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กเหล่านี้จะละลายก่อนที่จะตกถึงพื้น สามารถลดความเสียหายได้
อย่างไรก็ตาม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อยับยั้งความรุนแรง จากพายุลูกเห็บ มีแผนปฏิบัติการ 2 ช่วง คือ ในเดือนมีนาคม จะใช้เครื่องบิน Super King Air 350 ของ กรมฝนหลวงฯ ปฏิบัติการในพื้นที่ภาคเหนือ และในเดือนเมษายน จะใช้เครื่องบินเครื่องบินโจมตี แบบที่ 7 หรืออัลฟ่าเจ็ท จากกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงและมีความเร็วในการเข้าถึงเป้าหมาย ปฏิบัติการเพิ่มเติมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ยังเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ในการดัดแปรสภาพอากาศและบูรณาการแจ้งเตือนภัยพิบัติได้อีกด้วย เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ที่เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือwww.royalrain.go.th