กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
สกว. จับมือ กยท. สร้างเครือข่ายทำยุทธศาสตร์การวิจัยตลอดห่วงโซ่ และนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยทั้งระบบและก้าวพ้นวิกฤต
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดทำยุทธศาสตร์การวิจัย (พ.ศ. 2560-2564) การให้ทุนสนับสนุนการวิจัย การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ การประชุม สัมมนาวิชาการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยทั้งระบบ โดยมี ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. และ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการ กยท. เป็นผู้ลงนาม
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การวิจัยเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยอย่างยั่งยืน" ว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ายางพาราจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและพัฒนา เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ไทยส่งออกน้ำยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลกมากว่า 20 ปี แต่ไม่สามารถกำหนดราคายางพาราได้เอง ทำให้ราคามีความผันผวนและไม่มีเสถียรภาพเป็นอย่างมาก รวมถึงจุดอ่อนในการส่งออกวัตถุดิบราคาถูกไปขายให้ต่างประเทศที่นำไปแปรรูปด้วยเทคโนโลยีแล้วกลับมาขายให้เราในราคาแพง งานวิจัยและพัฒนาเรื่องยางพาราที่ผ่านมาดำเนินการล่าช้า และไม่ได้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ดังนั้นจึงต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนและบูรณาการกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะงานวิจัยที่จะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น ปัญหาเดิมๆ ที่พบเจอคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและผ่านการรับรองจาก สมอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานภายในประเทศหรือหน่วยงานรับรองมาตรฐานต่างประเทศ รวมถึงการสร้างมาตรฐานต่าง ๆ ภายในประเทศเพื่อรองรับนวัตกรรมจากยางพาราที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราจึงต้องสร้างสรรค์โครงการวิจัยที่สามารถดำเนินการวิจัยเพื่อส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการบูรณาการองค์กรวิจัย ให้เกิดโอกาสแลกเปลี่ยนทิศทางของงานวิจัยเรื่องยางและความก้าวหน้าของงานวิจัยที่ตรงตามเป้าหมาย ช่วยผลักดันงานวิจัยมุ่งเป้าด้านยางพาราเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ประกอบด้วย การวิจัยเชิงนโยบายเพื่อศึกษาแนวทาง/มาตรการ/นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศทั้งระบบ กรอบการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีศักยภาพทางการตลาด (อุตสาหกรรมปลายน้ำ) รวมถึงมาตรฐานยางดิบและผลิตภัณฑ์ยาง การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ยางที่มีคุณภาพ (อุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำ)
ด้วย พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย เราจะสามารถใช้เงินที่เก็บได้เพื่อการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ และส่งเสริมเรื่องเสถียรภาพราคายางในประเทศ อันจะช่วยสนับสนุนงานวิจัยรากฐานและงานวิจัยระดับการแปรรูปขั้นต้นได้ ดังนั้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปฏิรูประบบงานวิจัยและพัฒนาของยางพาราไทย ประกอบกับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากรัฐบาล จะทำให้เราสามารถก้าวผ่านพ้นวิกฤต และสามารถนำเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนามาประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริง เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต หรือสร้างสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะร่วมกันผลักดันผลงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
รองนายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหายางพารา โดยการสนับสนุนให้เกิดความสะดวกในการลงทุน มีปริมาณน้ำยางที่มากพอ มีองค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนาที่จะนำมาใช้ในระบบการผลิตเพื่อให้มีคุณสมบัติที่ดีและตรงกับความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรม รวมถึงความคงทนถวารต่อการใช้งานด้านต่าง ๆ ทั้งการแพทย์ การเกษตร และสังคมทั่วไป อีกทั้งส่งเสริมการลงทุนจากทั้งภายในและต่างประเทศผ่านบีโอไอ ตลอดจนการแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมยางพาราของไทยและเกษตรกรผู้ปลูกยาง
"ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งที่จะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยทั้งระบบ เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์และการแปรรูป ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขยายผลไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านผลตอบแทนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของประเทศด้วยต่อไป สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหายางพาราของประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ในประเทศมากขึ้น"
ในโอกาสนี้ สกว.และ กยท. ได้จัดให้มีการแสดงนวัตกรรมและยางพาราแปรรูปเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อันเป็นผลงานจากการวิจัยและพัฒนาด้วย เช่น ยางล้อทางการทหารสำหรับใช้ในพื้นที่ทุรกันดาร หุ่นจำลองฝึกทำหัตถการใส่ท่อในช่องเยื่อหุ้มปอด หุ่นจำลองตรวจสอบความถูกต้องของปริมาณรังสีจากการรักษามะเร็ง แผ่นยางควบคุมระบบนำส่งยาด้วยกระแสไฟฟ้า โฟมล้างหน้าจากน้ำมันเมล็ดยางพารา หุ่นยนต์ขูดหน้ายางรถยนต์อัตโนมัติ มอสเตอร์แบทช์ยางธรรมชาติผสมเขม่าดำจากน้ำยางสดเพื่อลดการฟุ้งกระจายของเขม่าดำ แผ่นยางกันระเบิด เป็นต้น ขณะที่งานวิจัยของ กยท. มีจำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย ชุดแบบจำลองฝายยางและแผ่นยางปูสระน้ำ ชุดแบบจำลองยางรองคอสะพาน ยางปูพื้นสนามฟุตซอล และผลิตภัณฑ์ยางฟองน้ำเพื่อสุขภาพ