กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
เหล่าเยาวชนบีบอยร่วมกันวอนผู้ใหญ่ ให้เห็นความสำคัญของการเต้นบีบอย อยากให้มองเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ช่วยสร้างเด็ก เยาวชนให้มีวินัยและช่วยสร้างให้ห่างไกลยาเสพติด อีกทั้งมีสุขภาพกาย-ใจแข็งแรง
BBOY ประเทศไทย ในนาม "ทีมพระสุเมรุ" ถือว่าเป็นกลุ่มแกนนำเยาวชนในเครือข่ายของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ยังคงสานต่อเจตนารมณ์สนับสนุนเยาวชนไทยที่รักการเต้นสไตล์บีบอยให้มีเวทีประกวดเพื่อให้เยาวชนไทยไได้พัฒนาศักยภาพและเปิดโลกทัศน์ทางความคิด ความสามารถของตนเองต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยปีนี้ได้มีการแข่งขันการประกวดเต้น BBOY ประจำปี 2560 ขึ้น โดยดึงประเทศอาเซียนทั้งพม่า ลาว เวียดนาม มาร่วมโชว์สเต็ป เมื่อวันที่11 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ป้อมพระสุเมรุ กรุงเทพฯ มีเยาวชนบีบอยเข้าร่วมงานนับร้อยคน ผลคนไทยครองแชมป์ต่อเนื่องอีกปี ผู้เป็นแชมป์ประจำปีนี้ได้แก่ ทีม 11 - HIGHLOW
บรรยากาศของงานคลาคล่ำไปด้วยเยาวชนผู้รักการเต้นบีบอย หากมองแต่ภายนอกผู้ใหญ่อาจจะเกิดความกังขา เด็กวัยรุ่นเหล่านี้มารวมตัวทำอะไรกัน ทั้งเสียงดัง และบางคนมีรอยสักตามร่างกาย ด้วยทัศนคติที่ว่าเด็กที่มีรอยสักและการรวมตัวของเด็กวัยรุ่นซึ่งเป็นผู้ชายจำนวนมาก จะกลายเป็นแหล่งมั่วสุมหรือไม่ เมื่อเราได้เข้าไปพูดคุยกับเด็กวัยรุ่นเหล่านี้กลับทำให้ทัศนคติด้านลบนี้จางหายไปและเกิดความเข้าใจใหม่ว่า วัฒนธรรมบีบอยกลับช่วยบ่มเพาะเด็กส่วนใหญ่ให้ผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบและมีการงานทำที่มั่นคง
เรามาพูดคุยกับนายบุญประเสริฐ ศาลางาม หรือ "โอมาน" โต้โผใหญ่ของการจัดงานเผยว่าปีนี้ ได้ดึงประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง พม่า ลาว เวียดนาม ให้เข้ามาแข่งขันด้วย "เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศแข่งขันเหมือนกันไม่ใช่เฉพาะบางทีมที่ได้ไปแข่งต่างประเทศ ปีนี้มีการแข่งขันบีบอย จำกัดแค่ 32 ทีมๆละ 5 ปีนี้ และมีเพิ่มการเต้น ทเวิร์ค เพื่อเป็นสีสันเท่านั้น" โอมานเกริ่น
จากภาพคนภายนอกที่ดูวงวงการบีบอยดูรุนแรงมีเรื่องยาเสพติดหรือเปล่า ถึงแม้เวลาเปลี่ยนไปวงการบีบอยก็ยังถูกมองจากคนภายนอกเหมือนเดิม "โอมาน" สะท้อนว่าเพราะคนที่มองเขาไม่เคยได้เข้าสัมผัส ตนเองอยู่วงการนี้มา 18 ปี ก็สามารถพิสูจน์ให้สังคมเห็นได้ว่าบีบอยสามารถเปลี่ยนแปลงเด็กๆ ไปในทางที่ดีขึ้นได้จริง "บีบอยสามารถเปลี่ยนความคิดของเด็ก ทำให้เด็กโตขึ้น ทำให้เด็กมีความคิดเป็นของตัวเองและเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เพราะเด็กที่จะเข้าสู่การเต้นบีบอยต้องรับผิดชอบตัวเองในการฝึกท่าเต้น บางท่าต้องใช้สมาธิและใช้ความคิดขณะทำท่านั้นเยอะมาก เมื่อเทียบกับเด็กรุ่นเดียวกัน ผมสัมผัสได้ว่าเด็กที่เต้นจะมีความคิดเป็นผู้ใหญ่กว่า"
"บีบอยมีหลายกลุ่มหลากหลายแต่กลุ่มที่ดั้งเดิมแบบพวกเรา จะเน้นสอนนิสัยและพฤติกรรมด้วย เรา ซีเรียสมาก ถ้าจะอยู่กับเราจะต้องมีนิสัยอย่างนี้ อันดับแรกคือต้องมีสัมมาคารวะ เจอกันต้องสวัสดีกัน ยกมือไหว้กัน ข้อสองคือเรื่องซ้อม เวลาจะเต้นต้องหาเวลามาซ้อม ต้องมีวินัยกับตัวเอง แต่ถ้าติดสอบ ติดเรียน ไม่ว่ากันมีความอดทนเรื่องนี้สำคัญมาก เรื่องการพูดจาพวกเราก็จะสอนน้องห้ามพูดจาหยาบคาย" ความฝันของตนอยากให้บีบอยได้เข้าไปอยู่ในช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพราะว่าการเต้นบีบอยฝึกให้เด็กมีวินัย โอมานจึงอยากจะฝากให้โรงเรียน หรือ ครู หากสนใจสามารถติดต่อกับตนเองได้โดยตรง ยินดีจะสอนให้ฟรี
ถัดจากโต้โผใหญ่มาคุยกับน้องๆ ทีม"11 Highlow" ที่เพิ่งชนะเลิศมาหมาดๆ มีสมาชิก 5 คนประกอบด้วย นายกันตภณ รอดสอาด(เต๋า) อายุ 22 ปี ,นายนวมินทร์ ลาภสุทธิอนันต์ (หนึ่ง) อายุ 24 ปี นายปฏิภาณ กุลวัฒนพันธ์ (แบงค์) อายุ 18 ปี นายพชร เอี่ยมจรัส (ฟ่า) อายุ 21 ปี และนายพิสิทธิ์ บุญนิธี( บาส ) อายุ 20 ปี ที่ปีนี้รวมทีมประกวดอีกครั้ง บางคนกำลังเรียนอยู่และบางคนก็เรียนจบและทำงานแล้ว"ถ้าไม่เต้นบีบอยวันนี้คงเป็นเด็กติดเกมนอนเฉยๆ อยู่บ้าน หรือไม่ก็อาจจะไปใช้ชีวิตในทางดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่วันนี้บีบอยได้ให้ประสบการณ์ การใช้ชีวิตกับผม" เต๋าสะท้อนข้อดีของบีบอยเช่นเดียวกับเพื่อนคนอื่นๆ ในกลุ่มที่คิดเหมือนๆ กัน "การเต้นบีบอย ได้สุขภาพ เหมือนได้ออกกำลังกายไปในตัว และยังทำอาชีพได้อีกด้วย ผมใช้บีบอยเป็อาชีพมา 10ปีแล้ว" แบงค์ เสริม "แรกๆ พ่อแม่ก็ไม่โอเคที่เรามาเต้นบีบอย เขามองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เราก็พยายามทำให้เขาเห็น ฝึกฝนพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ คือผมจะทำเป็นอาชีพเสริมเปิดหมวกทุกวันเสาร์ อาทิตย์ ที่ตลาดแถวชลบุรี วันธรรมดาผมก็ช่วยพ่อทำร้านซ่อมรถ ตอนนี้พ่อแม่ก็โอเคแล้ว" หนึ่ง ร่วมสะท้อนอีกมุมหนึ่งของตนเอง
เช่นเดียวกับ "กิ่ง-กนกกาญจน์ ครุจิต" วัย 21 ปี ตัวแทนของผู้หญิงที่มาเต้นบีบอยซึ่งถือว่ามีน้อยมาก เมื่อถูกถามว่าพ่อแม่อนุญาตหรือ เธอบอกว่าตอนแรกที่บ้านก็เป็นห่วงเหมือนกัน บ้านอยู่จ.ขอนแก่นเริ่มเต้นมาตั้งแต่อายุ 11 ปี จนตอนนี้เรียนจบที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่นและเพิ่งได้ทำงานเป็นผู้ช่วยกุ๊กให้กับร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่เธอก็ยังพัฒนาการเต้นบีบอยอยู่ จนวันนี้พ่อแม่เห็นโตขนาดมีงานทำแล้วจึงคลายความกังวลลง จึงมีคำถามว่าบีบอยมีดีอะไรทำให้เธอไม่ทิ้งมันไป "สำหรับหนู บีบอยให้ความสนุก ร่างกายแข็งแรง ทำให้เรารู้สึกว่าเรากระตือรือล้นขึ้น มีความอดทน เพราะบีบอยต้องใช้กำลังเยอะ ได้เพิ่มกล้ามเนื้อ บีบอยเหมือนครอบครัวที่สองที่ทุกคนรู้จักกันหมดและคอยดูแลกัน"
มาถึงหนูน้อยพริกขี้หนูวัย 13 ปี น้องโอ๊ต หรือ นายสุชาติ คำเทศ ที่ปีนี้เห็นพัฒนาการด้านอารมณ์และนิสัยอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเจอหน้า "โอ๊ต"ยกมือขึ้นไหว้และมีอาการสำรวมต่างจากปีที่แล้วลิบลับ เมื่อถามว่าบีบอยให้อะไร "โอ๊ต" รีบตอนทันควันว่า "บีบอยให้ความแข็งแรงและได้เจอรุ่นพี่ เพื่อนที่ดี" โอ๊ตบอกว่าพี่ๆ จะสอนเรื่องการเต้น และสอนเรื่องมารยาท เช่นการไหว้ให้มีสัมมาคารวะและตอนนี้ตัวเองก็กลับไปเรียนแล้วโดยตั้งใจเรียนให้จบที่กศน.หนองแขม "ถ้าไม่มีบีบอย ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรเหมือนกัน" โอ๊ตบอกทิ้งท้ายให้คิด เยาวชนทุกคนที่รักการเต้น ได้พูดตรงกันว่า "บีบอย" ได้ให้สิ่งที่ดีกับชีวิตตนเอง ทั้งด้านร่างกายที่แข็งแรง ทั้งด้านจิตใจที่สร้างความมีวินัย ความอดทน
และวันนี้ เยาวชนเหล่านี้จะขอเป็นตัวแทนของบีบอยเพื่อให้ผู้ใหญ่ พ่อ แม่ผู้ปกครอง ลองหันกลับมามองบีบอยในแง่มุมใหม่ โดยใช้กิจกรรม "บีบอย" เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สนับสนุนให้เยาวชนหันมาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงอีกด้วย "อยากให้ผู้ใหญ่เห็นว่าบีบอยเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง อยากให้ช่วยสนับสนุน ไม่อยากให้มองว่าเป็นแบดบอย ไร้สาระ เต้นข้างถนน เปิดหมวกอะไรแบบนี้"แบงค์ กล่าว "ส่วน "หนึ่ง" ได้ขอฝากไว้ว่า "อยากบอกผู้ใหญ่ว่าบีบอยเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่ไปในทางที่ดี ทำให้ร่างกายแข็งแรง อยากให้ผู้ใหญ่มองว่าเป็นกิจกรรมที่ดีอยากได้รับการสนับสนุนครับ" สิ่งที่จะพิสูจน์ว่า "บีบอย" ควรค่าแก่การส่งเสริมสนับสนุนหรือไม่นั้น ต้องเข้าไปสัมผัสเท่านั้นถึงจะรู้ เมื่อหลายฝ่ายกำลังหากิจกรรมที่สร้างวินัย ความอดทนให้กับเด็กๆ กิจกรรมเต้นบีบอยน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ควรรับไว้พิจารณา.