กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--Triple J Communication
ก.พลังงาน ยืนยันความพร้อม "มาตรการรองรับการใช้ไฟฟ้าหน้าร้อน" ควง กฟผ. ย้ำความมั่นใจการผลิตไฟฟ้ารองรับช่วงหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซพม่า และรับมือพีคหน้าร้อนที่คาดแตะเกิน 30,000 เมกะวัตต์ ในส่วนของ กกพ. ได้พัฒนาระบบรายงานพีคแบบใหม่ให้แม่นยำ และสามารถติดตามผ่านแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ขอภาคธุรกิจร่วมมือผ่านมาตรการ DR และชวนประชาชนรณรงค์ ปรับ ปิด ปลด เปลี่ยน เพิ่มการประหยัดพลังงานร่วมกัน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนนี้ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างวันที่ 25 มี.ค. – 2 เม.ย. นี้ ที่จะเกิดการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธ รรมชาติ แหล่งยาดานา ณ ประเทศเมียนมา ซึ่งถือเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติหลักในการผลิตไฟฟ้า ที่ประเทศไทยต้องพึ่งพาสูงถึง 1,100 ล้านลูกบาศก์ ก์ฟุตต่อวัน และถือเป็นช่วง 9 วันอันตราย เนื่องจากมีผลให้ก๊าซธรรมชาติ ทั้งภาคการผลิตไฟฟ้า และภาคขนส่ง หายไปจากระบบมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวเต็มที่ โดยเฉพาะด้านการผลิตไฟฟ้าในประเทศให้เพียงพอ เพื่อป้องกันปัญหาไฟฟ้าตก ดับ และกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในภาพรวม
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานขอให้ความมั่นใจกับประชาชน ในช่วงเวลาดังกล่าว ผนวกกับการใช้ไฟฟ้าหน้าร้อนที่คาดว่าสภาพอากาศจะมีอุณหภูมิร้อนจัด และจะเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีค ที่คาดว่าในปี 2560 นี้ น่าจะเกิดพีคสูงเกิน 30,000 เมกะวัตต์ โดยเบื้องต้นกระทรวงพลังงานได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมความพร้อมในการรองรับการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งยาดานาดังกล่าว โดยให้พิจารณาดำเนินการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล ทดแทนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไป รวมไปถึงประสานโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศลาว ให้เดินเครื่องเต็มความสามารถ โดยในส่วนความพร้อมของเชื้อเพลิง จะสำรองน้ำมันให้เพียงพอก่อนเริ่มหยุดจ่ายก๊าซ ซึ่งจะสำรองการใช้น้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าราชบุรี การสำรองน้ำมันดีเซล โรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น
ด้านการเตรียมความพร้อมในส่วนของการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) กระทรวงพลังงานจะรณรงค์ทุกภาคส่วน ให้ร่วมกันประหยัดไฟฟ้าผ่านมาตรการง่ายๆ เช่น การปิดดวงไฟที่ไม่ใช้ การปรับแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศา การเปลี่ยนมาใช้หลอด LED เป็นต้น รวมทั้งจะมอบหมายให้กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินมาตรการ Demand Response หรือ DR ซึ่งเป็นมาตรการให้ภาคเอกชน ลดการใช้พลังงานลงด้วยความสมัครใจ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชย 3 บาทต่อหน่วย มีเป้าหมายลดใช้ไฟฟ้าพื้นที่กรุงเทพฯ ราชบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสงครามและสมุทรสาคร และมีเป้าหมายลดกำลังผลิตรวม 400 เมกะวัตต์
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรองรับการใช้ไฟฟ้าหน้าร้อน กกพ. ได้พัฒนาการรายงานข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) โดยมีเป้าหมายให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายงานข้อมูลการผลิตได้แบบ Real Time เพื่อให้ กกพ. รวบรวมข้อมูลดังกล่าว เพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า และนำไปประกอบการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าและการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ และตอบสนอง "SMART Energy Management"
ตามนโยบาย Energy 4.0 รวมทั้งจะเป็นการรายงานพีคไฟฟ้าให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น โดยสามารถติดตามข้อมูล"System Peak ปี 2560" ดังกล่าว ผ่าน Application บนมือถือทั้งระบบ Android และ ระบบ iOS ได้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป
"กกพ. และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งได้พัฒนาระบบเพื่อใช้รวบรวมข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ที่ผ่านมามีการรายงานข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และการนำเข้าจากต่างประเทศ มายังระบบดังกล่าว ทุกๆ 1 นาที และในปี 2559 ได้พัฒนาการรายงานข้อมูลการผลิตไฟฟ้า โดยนำเข้าข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า VSPP ที่มีการติดตั้งอุปกรณ์Remote Terminal Unit (RTU) ทุกๆ 15 นาที และได้มีการประมาณการข้อมูลการผลิตของโรงไฟฟ้า VSPP ที่ไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการรายงานผลแบบ Real Time ตามลักษณะการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทเชื้อเพลิง เพื่อให้สามารถรายงานภาพรวม การผลิตไฟฟ้าได้" นายวีระพลกล่าว
โดยในการดำเนินงานต่อไป กกพ. กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะร่วมมือกันพัฒนาข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือจำหน่ายไฟฟ้าให้ลูกค้าตรง ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 6,673 เมกะวัตต์ เพื่อให้ภาพรวมการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้การบริหารการเดินเครื่องของ กฟผ. มีความมั่นคง และการจัดทำแผน PDP มีความแม่นยำยิ่งขึ้น
ด้านนายเริงชัย คงทอง ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในส่วนของแผนการรองรับ การหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาดังกล่าว ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าประมาณ 6,400 เมกะวัตต์ นั้น กฟผ. จะบริหารจัดการ โดยการปรับเปลี่ยนการเดินเครื่องโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG) นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อทดแทนผสมกับก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยให้แก่โรงไฟฟ้า ในภาคกลางและภาคตะวันออก รวมทั้งการซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และ การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีข้อจำกัดการปล่อยน้ำ
โดยบางส่วนมีความจำเป็นผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาประมาณ 102 ล้านลิตรทดแทน ที่โรงไฟฟ้าราชบุรีและโรงไฟฟ้าบางปะกง และส่วนที่เหลือจะผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซล 13.9 ล้านลิตรทดแทน ที่โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้และโรงไฟฟ้าราชบุรี รวมทั้งโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 1 ซึ่ง กฟผ. ปรับปรุงให้มีความสามารถพิเศษใช้ก๊าซธรรมชาติได้หลากหลายแหล่ง ต้องนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาผลิตไฟฟ้าแทน พร้อมได้ตรวจดูแลรักษาสายส่งไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือไม่ให้ปิดซ่อมโรงไฟฟ้าช่วงดังกล่าว