กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
นักวิชาการทางด้านเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)เปิดเผยเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ยังคงมีการเติบโตที่ขยายตัวมากกว่าปีก่อน สืบเนื่องจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้มาตรการจัดเก็บภาษีเพิ่มในหลายกลุ่มประเภทภาษี อาจส่งผลกระทบต่อในระยะสั้นต่อการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยรัฐบาลควรพิจารณาความเหมาะสมของจังหวะเวลาในการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวหาต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ในส่วนภาคธุรกิจ สถานการณ์ของภาคธุรกิจและผู้ประกอบการจะในอยู่ในภาวะ "ซึม" อันเนื่องจากปัจจัยภายนอกประเทศเพราะภาคธุรกิจส่วนใหญ่พึงพาการส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบกลุ่มธุรกิจที่เน้นการส่งออกในกลุ่มประเทศ จีน อเมริกา และยุโรป โดยผู้ประกอบการควรขยายการลงทุนทางธุรกิจไปในแถบประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเฉลี่ย 6-8% ต่อปี อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มธุรกิจที่เป็นตัวชูโรงและโอบอุ้มตัวเลขของธุรกิจไทยในปี 2560 ยังคงเป็นธุรกิจประเภทบริการและการท่องเที่ยว สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศนั้น นักวิชาการเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปมีแนวโน้มการดำเนินทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีมากขึ้น เนื่องมาจาก การเจรจาทางการค้าแบบพหุภาคีทำให้บางประเทศ ได้รับประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน
ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440 เว็บไซต์ www.pr.tu.ac.th
ศาสตราจารย์ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 60 ยังคงมีการเติบโตที่ขยายตัวมากกว่าปีก่อน โดยขยายตัวร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับไตรมาศแรกของปีที่แล้ว สืบเนื่องจาก ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ อาทิ นโยบายการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการช๊อปช่วยชาติที่กระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนแรงขับเคลื่อนในภาคการส่งออกของไทยที่ฟื้นตัว จากมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น ในสินค้า ประเภท อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าโภคภัณฑ์ และยางพารา ทั้งนี้มาตรการจัดเก็บภาษีเพิ่มในหลายกลุ่มประเภทภาษี อาจส่งผลในระยะสั้นต่อการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยรัฐบาลควรพิจารณาความเหมาะสมของจังหวะเวลาในการปรับขึ้นภาษีดังกล่าวหาต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งนี้ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเทศมีโอกาสในการต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายเงินทุนไทยไปยังต่างประเทศและจัดการกับความผันผวนจากการขึ้นดอกเบี้ยของประเทศสหรัฐอเมริกาที่อาจส่งผลระทบต่อค่าเงินบาท และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ตามสำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ประเทศไทยต้องหาแนวทางในการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภาครัฐใหม่เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
ด้าน ดร. สุทธิกร กิ่งแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ และการขนส่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ในส่วนของสถานการณ์ต่างประเทศที่อาจกระทบต่อประเทศไทยนั้น ปัจจัยแรกจะเป็น การดำเนินนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน (America First) ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งหวังให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานในสหรัฐอมริกา ผ่านการกระตุ้นด้วยเครื่องมือเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจ อาทิ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารของสหรัฐเพื่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิตขึ้นภายในประเทศ มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า ตลอดจนการ เน้นการเจรจาข้อตกลงทางค้าแบบทวิภาคี เพื่อรักษาอำนาจต่อรองทางค้า เป็นต้น โดยนโยบายดังกล่าว จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อมูลค่าการส่งออกของไทยที่ลดลงตามมา เนื่องจากสินค้าของไทยที่ส่งไปเป็นวัตถุดิบแก่จีนจะได้รับผลกระทบเป็นโดมิโน่ โดยปัจจุบันประเทศไทยส่งสินค้าไปเป็นสินค้าวัตถุดิบในประเทศจีนกว่า 76,589.6 ล้านบาท โดย สินค้าจำพวก Supply Chainของไทยที่ส่งออกไปจีน อาทิ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ไม้ เคมีภัณฑ์ ยางพารา และอาหารแปรรูป เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คาดเดาทั้งหมด เพราะปัจจุบันประเทศจีนกำลังเข้าสู่รอบการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อเลือกตำแหน่งสำคัญทางการเมืองใหม่ในไม่ช้านี้ ซึ่งผู้นำประเทศจีนเองคงต้องการรักษาและขยายฐานอำนาจทางการเมืองเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศภายใต้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงสำหรับ 5 ปีข้างหน้า จีนคงไม่ต้องการที่จะใช้มาตรการตอบโต้รุนแรงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนและกลับมาเป็นปัญหาเชิงลบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศได้ ดังนั้นมีโอกาสที่ประเทศจีนจะผ่อนปรนมากขึ้นเพื่อประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ และเศรษฐกิจโลก โดยตอนนี้ทั่วโลกกำลังจับตาการเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในช่วงเดือนเมษายนนี้ว่าจะมีผลออกมาไปในทิศทางใด รูปแบบของการค้าการลงทุนของโลกจะมุ่งสู่ทิศทางใด อย่างไกชรก็ตามหากความร่วมมือสองประเทศเป็นผลจะเกิดผลดีกับประเทศไทยอย่างแน่นอน โดยภาคอุตสาหกรรมจะได้ อนิสงค์จากการลงทุนที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับทิศทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน มีแนวโน้มการดำเนินทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีมากขึ้น เนื่องมาจากการเจรจาทางการค้าแบบพหุภาคีทำให้บางประเทศได้รับประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน เป็นต้นว่า สหรัฐอเมริกาถอนตัวจากทีพีพี ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวอาจทำให้สหรัฐอเมริกาเสียเปรียบทางเศรษฐกิจในความคิดของรัฐบาลทรัมป์ในปัจจุบัน ซึ่งต่างจากการเจรจาตกลงแบบทวิภาคีจะสามารถตกลงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการค้าการลงทุนได้ชัดเจนมากกว่า
สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยเราต้องเน้นกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการค้าการลงทุนกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งจีน ไปสู่การขยายการค้าการลงทุนกับประเทศขนาดเล็กที่เติบโตเร็ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV หรือแม้กระทั่งอินเดียและแอฟริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้จะเป็นเครื่องยนต์หลักเครื่องใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในยุคนี้
ด้าน ศาสตราจารย์วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ของภาคธุรกิจและผู้ประกอบการจะในอยู่ในภาวะ "ซึม" อันเนื่องจากปัจจัยภายนอกประเทศเพราะภาคธุรกิจส่วนใหญ่พึงพาการส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก แต่มั่นใจว่าประเทศไทยไม่อยู่ภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจแน่นอน โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะ "ซึม" ดังกล่าวคือกลุ่มธุรกิจที่เน้นการส่งออกในกลุ่มประเทศที่มีความไม่แน่นอน ได้แก่ จีน อเมริกา และยุโรป ซึ่งการส่งออกสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบกล่าว จะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย เนื่องจาก ผู้ประกอบการณ์จำเป็นจะต้องตัดชั่วโมงโอที ตลอดจน การลดการจ้างงาน
อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางการแก้ปัญหานั้น ผู้ประกอบการควรขยายการลงทุนทางธุรกิจไปในแถบประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มประเทศ CLMV กำลังเป็นฐานเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาภูมิภาคเหล่านี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเฉลี่ย 6-8% ต่อปี โดยที่ผ่านมา บริษัทชั้นนำไทยได้พยายามมองหาลู่ทางการค้าและการลงในลงทุน ในประเทศแถบเอเชียมาโดยตลอด เป็นต้นว่า บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เซ็นทรัลกรุ๊ป ที่ไปเปิดห้างสรรพสินค้าที่ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้นรวมถึงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพอยู่แล้วสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสผ่านการ เล่นตามเกมของสหรัฐอเมริกา ด้วยการไปซื้อบริษัทข้ามชาติอเมริกา โดย ผลิตสินค้าส่งออกภายใต้แบรนด์ของอเมริกา ภายใต้เจ้าของที่เป็นคนไทย ซึ่งจะช่วยลดข้อจำกัดเรื่องมาตรการกำแพงภาษีของสินค้าต่างประเทศในสหรัฐอเมริกาได้
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่เป็นตัวชูโรงและโอบอุ้มตัวเลขของธุรกิจไทยในปี 2560 ยังคงเป็นธุรกิจประเภทบริการและการท่องเที่ยว โดยรัฐต้องให้ความสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยงทั้งตลาดในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ตลอดจนต้องวางรากฐานในการส่งเสริม กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปี 2560 หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 3,600 ล้านบาทรัฐควรมีการจัดตั้ง "สมาร์ทเอเจนท์ (Smart Agent)" ขึ้น ก็จะช่วยผลักดันให้เกิดกลุ่มธุรกิจรายใหม่ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้นอันสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยสำหรับกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต ได้แก่ สตาร์ทอัพด้านการผลิตอาหารและการเกษตรและด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เข้มแข็งของประเทศไทยที่จะสามารถนำมาต่อยอดได้ ศาสตราจารย์วิทวัส กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานสัมภาษณ์พิเศษในหัวข้อ "เศรษฐกิจไทย 2560 : SOMTUM Crisis?!?" โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคาร 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440 เว็บไซต์www.pr.tu.ac.th