กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินโครงการวนเกษตรกิจกรรมป่าครอบครัวในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการพึ่งพาตนเองและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ระหว่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) หรือ BEDO โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการ สพภ. ร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร ว่า นโยบายรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายชัดเจนในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ป่าทั่วประเทศ ซึ่งทุกหน่วยงานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีความร่วมมือกันในการหยุดยั้งการลดลงของพื้นที่ป่า พร้อมฟื้นฟูรักษาทรัพยากรป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ เป็นการยกระดับความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง ส.ป.ก. และ สพภ. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวนเกษตรกิจกรรมป่าครอบครัว ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงาน โดยมุ่งเน้นให้เกิดความตระหนัก และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดิน การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาวนเกษตรกิจกรรมป่าครอบครัวเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านความมั่นคงทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่นในเขตปฏิรูปที่ดิน อีกทั้งกระตุ้นทุกภาคส่วนให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งในด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
"ป่าครอบครัว เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้มีความพยายามสร้างสมดุลเรื่องการอนุรักษ์และทำการเกษตร โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่สีเขียวให้เพิ่มขึ้นในเขต ส.ป.ก. มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไม่ให้มีการทำการเกษตรบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งตั้งแต่ปี 2518 ส.ป.ก. จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรไปแล้ว 2.7 ล้านราย เป็นพื้นที่ประมาณ 35 ล้านไร่ และเป้าหมายใน 20 ปี ให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีก อย่างน้อย 7 ล้านไร่ ซึ่งจะเป็นป่าเศรษฐกิจและป่าครอบครัวที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป" นายธีรภัทร กล่าว
นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายไว้อย่างชัดเจน โดยจะขยายแนวคิดนี้ จัดทำเป็นโครงการนำร่องป่าครอบครัวในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งมีบริเวณพื้นที่แนวเขตกันชนติดกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ของ ส.ป.ก. และอยู่ติดกับเขตพื้นที่แนวกันชนป่าอนุรักษ์ ร่วมกันดำเนินการป่าครอบครัว เพื่อเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร ไม้ใช้สอย ลดการพึ่งพาธรรมชาติ ป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ทำให้มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นในพื้นที่จัดสรรของ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดสรรพื้นที่ ส.ป.ก. ให้แก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรมฯ ในปี 2560 จำนวน 3 พื้นที่ ในเขตแนวกันชนป่าอนุรักษ์จังหวัดอุทัยธานี ประกอบด้วย อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก และอำเภอห้วยคต พื้นที่ละ 15 ครัวเรือน รวมเป็น 45 ครอบครัว และจะขยายโครงการฯ ออกไปในพื้นที่จัดสรรของ ส.ป.ก. ที่มีแนวเขตกันชนติดกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ส.ป.ก. มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินโครงการดังกล่าว คือ เสนอชุมชนเป้าหมาย และคัดเลือกสมาชิกป่าครอบครัวเพื่อเข้าร่วมโครงการ ส่งเสริมสนับสนุนให้เครือข่ายป่าครอบครัวจัดทำข้อมูลป่าครอบครัวในแต่ละครัวเรือน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเพาะกล้าไม้ในระดับครัวเรือนและระดับเครือข่าย และประสานงานและสนับสนุนกล้าไม้ที่ไม่สามารถขอรับสนับสนุนจากเครือข่ายอื่นได้ พร้อมกับส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งการดำเนินงานของสมาชิกและกลุ่มเครือข่าย ตลอดจนให้คำปรึกษา ติดตาม และประเมินผล